ฝึกอบรม เทคนิคการผลิตมะนาวนอกฤดูและการผลิตใบมะกรูดเชิงการค้า รุ่นที่ 39
อบรมหลักสูตร เทคนิคการผลิตมะนาวนอกฤดูและการผลิตผลและใบมะกรูดเชิงการค้า รุ่นที่ 39

การผลิตใบมะกรูดเชิงการค้า

รศ.ดร.รวี เสรฐภักดี, สามารถ เศรษฐวิทยา และ สุขะวัฒน์ ทองเหลี่ยว

 ศูนย์วิจัยและพัฒนาไม้ผลเขตร้อน ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน นครปฐม 73140 โทร. 034-351-934 โทรสาร 034-351-934  

 เทคโนโลยีการผลิตใบมะกรูด

                ไม้ยืนต้นตระกูลส้ม รวมถึงมะกรูดนั้น มีการเติบโตด้านกิ่งใบ (vegetative growth) สร้างใบ กิ่งก้าน ลำต้น และราก กับการเติบโตด้านสืบพันธุ์ (reproductive growth) สร้างดอก ผล และเมล็ด แยกกันอย่างชัดเจน หากมีการเติบโตด้านหนึ่งมาก การเติบโตอีกด้านหนึ่งก็จะลดลง การผลิตใบมะกรูดมุ่งไปที่การเติบโตด้านกิ่งใบ เป็นหลัก แต่ไม่เน้นการผลิตผลมะกรูด โดยอาศัยการตัดแต่งกิ่ง ร่วมกับการจัดการอื่นๆ เพื่อกระตุ้นให้มีการผลิตา และส่งเสริมการเติบโตทางกิ่งใบ ซึ่งมีสิ่งที่ควรคำนึงถึงดังนี้

  1. พื้นที่ปลูก ต้องมีการระบายน้ำดี น้ำไม่ท่วมขัง มีระดับความเป็นกรด-ด่าง (pH) ในช่วง 5.5 - 7.0 มีอินทรียวัตถุสูง หรือปรับแต่งโดยการใช้ ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยพืชสด เสริม ควรมีการไถพรวนพื้นที่ก่อนเพื่อช่วยไม่ให้ดินแน่นทึบ การปลูกในโรงเรือนมุ้งตาข่ายขนาดความถี่ช่อง 20 เมช (Mesh; 20 ช่องต่อนิ้ว) ช่วยลดปัญหาของแมลงศัตรูพืชขนาดใหญ่ได้มาก
  2. การเตรียมแปลงปลูก และระยะปลูก ขนาดของแปลงปลูกที่เหมาะสม ควรมีความกว้าง 1 เมตร ยกระดับความสูงประมาณ 20 - 25 ซม. จากผิวดิน มีทางเดินระหว่างแปลงกว้าง 50 ซม. ปลูกแบบแถวคู่ สลับฟันปลา ใช้ระยะระหว่างต้น 50 ซม. และระยะระหว่างแถว 50 ซม. (ภาพที่ 1) ในพื้นที่ 1 งาน (20 x 20 ม. หรือ 400 ตารางเมตร) มีแปลงปลูกหน้ากว้าง 1 เมตร ยาว 18 เมตร จำนวน 18 แปลง แต่ละแปลงปลูกได้ 72 ต้น รวมจำนวนต้นมะกรูดทั้งหมด 1,296 ต้น         

                ไม่มีความจำเป็นที่จะใช้ระยะปลูกที่ห่างกว่า เนื่องจากการผลิตใบมะกรูดนั้น มีการตัดแต่งกิ่ง เพื่อเก็บเกี่ยวผลผลิต ซึ่งเท่ากับเป็นการควบคุมขนาดพุ่มต้นไปพร้อมกันอยู่แล้ว

 

ภาพที่ 1 ขนาดแปลง และระยะปลูก

  1. กิ่งพันธุ์  สามารถใช้ต้นพันธุ์ที่ขยายจากการเพาะเมล็ด กิ่งปักชำ หรือกิ่งตอน แต่ต้นที่ได้จากการเพาะเมล็ด มักมีการเติบโตที่ช้ากว่าในช่วงระยะแรก ต้นพันธุ์ที่พร้อมปลูกลงแปลงควรมีอายุ 1-2 เดือน มีระบบรากที่ดี ไม่ม้วนวนเนื่องจากอยู่ในถุงปลูกนานเกินไป และที่สำคัญคือ จะต้องปลอดจากโรคแคงเกอร์ส้ม (citrus canker) โรคนี้เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า Xanthomonas campestris pv. citri (Hasse) Dye ซึ่งเป็นข้อจำกัดหลักที่ทำให้เราไม่สามารถส่งออกใบมะกรูดไปยังกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรปได้

                การกำจัดโรคนี้ทำได้ยาก  เมื่อมีการแพร่ระบาดเข้าไปในแปลงปลูกแล้ว ดังนั้นจึงควรป้องกันตั้งแต่เริ่มแรก โดยใช้วิธีการคัดเลือกกิ่ง และตัดแต่งกิ่ง/ใบ ส่วนที่เป็นโรคออกแล้วนำไปเผาไฟ จากนั้นนำกิ่งพันธุ์ไปแช่ในสารปฏิชีวนะ เช่น สเตร็ปโตมัยซิน (Streptomycin) ความเข้มข้น 500 พีพีเอ็ม เป็นเวลา 2 ชั่วโมง ก่อนนำไปปลูก หรือ แช่ในสารชีวภัณฑ์ ไตรโคเดอร์มา ชนิดน้ำ ที่ผสมในอัตรา 1 ลิตรต่อน้ำ 100 ลิตร เป็นเวลา 2 ชั่วโมง ก่อนนำไปปลูก

  1. การจัดการแปลง แนะนำให้ใช้ผ้าพลาสติก หรือใช้ฟางข้าวคลุมแปลงปลูก เพื่อป้องกันวัชพืชและช่วยรักษาความชื้นในดิน
  2. ระบบน้ำ ในกรณีที่ใช้ผ้าพลาสติกคลุมแปลงปลูก แนะนำให้ใช้ระบบน้ำหยด ที่สามารถจ่ายปุ๋ยไปพร้อมกับการให้น้ำ (fertigation) ส่วนแปลงที่ไม่ได้ใช้ผ้าพลาสติกคลุม สามารถเลือกให้น้ำด้วยระบบต่างๆ ที่มีอยู่ตามความเหมาะสม
  3. การให้ปุ๋ย ในการผลิตใบมะกรูดนั้น มีนำเอาธาตุอาหารออกไปจากดินอย่างต่อเนื่อง โดยติดไปกับผลผลิตที่เก็บเกี่ยวออกพื้นที่ จึงจำเป็นต้องให้ปุ๋ยกลับคืน เพื่อชดเชยระดับธาตุอาหารในดินให้เหมาะสม ปุ๋ยที่ใช้ควรมีสัดส่วนของธาตุอาหาร N-P-K ประมาณ 5 : 1 : 3 หรือ 5 : 1 : 4 หรือใกล้เคียงกัน เช่น ปุ๋ยทางดินสูตร 21-7-14, 20-4-16 (ใช้ปุ๋ย 15-5-20 ผสมกับ 46-0-0 อัตรา 4 ต่อ 1)  อัตรา 5 กรัมต่อต้น หรือให้ไปกับระบบน้ำ ทุก 20-30 วัน ปุ๋ยทางใบ สูตร 24-9-19, 18-6-12 พ่นทุก 7-14 วัน ส่วนธาตุอาหารอื่นๆ ก็จำเป็นต้องเสริมให้หลังแตกใบอ่อนเป็นระยะซึ่งมีอยู่ในปุ๋ยทางใบ
  4. การป้องกันกำจัดศัตรูพืช นอกจากโรคแคงเกอร์แล้ว ไม่พบว่ามีโรคอื่นๆ ที่สร้างความเสียหายรุนแรง ส่วนแมลงศัตรูพืชที่สำคัญได้แก่ เพลี้ยไฟ หนอนชอนใบ เพลี้ยอ่อน และเพลี้ยแป้ง ซึ่งสามารถพ่นสารป้องกันกำจัดแมลง เช่น อาบาเม็กติน ไซเปอร์เมทริน อิมิดาคลอพริด ฟิโปรนิล หรือไดโนทีฟูแรนโดยแนะนำให้พ่นที่ 1, 4 และ7 วันหลังแตกยอด (ระยะเขี้ยวงู) ตามอัตราที่แนะนำในฉลาก การปลูกในโรงเรือนมุ้งตาข่ายสามารถป้องกันหนอนชอนใบและแมลงศัตรูอื่นๆ ได้ดีในระดับหนึ่ง
  5. การตั้งทรงพุ่ม หลังย้ายปลูกลงแปลงประมาณ 4 - 6 เดือน ตัดแต่งปลายยอดออก ที่ระดับความสูง 60 -80 ซม. จากผิวดิน ตัดกิ่งแขนงออก ให้ลำต้นส่วนล่างนี้ เป็นลำเดี่ยว เรียกว่า หน้าแข้ง ภายหลังการตัดแต่ง ตาจะเริ่มผลิและยืดออกเป็นยอดใหม่ เลือกยอดใหม่ที่แข็งแรงและเติบโตพุ่มขึ้นไว้ 2 – 3 ยอด กระจายห่างกัน ยอดที่อยู่ในแนวตั้งฉาก หรือเกือบตั้งฉากกับพื้นจะเติบโตได้ดี มีใบใหญ่จำนวนมากกว่า เมื่อเทียบกับกิ่งที่เอนขนานกับพื้น 1 ต้นมียอดที่จะตัดเก็บเกี่ยวได้ 6 ยอด นี่คือโครงสร้างของพุ่มต้นมะกรูดที่จะรักษาไว้ (ภาพที่ 2)

ภาพที่ 2 โครงสร้างของพุ่มต้นมะกรูดเพื่อการตัดใบ

  1. การเก็บเกี่ยวผลผลิต หลังตัดกิ่งแล้ว 7 วันจะเริ่มแตกตา ยอดใหม่มีการเติบโตยืดตัว ใบเริ่มคลี่สุดประมาณ 30 วัน และใบพร้อมเก็บเกี่ยวได้หลังตัดแต่งกิ่งแล้ว 45-60 วัน โดยตัดลึกให้เหลือตอละ 2 ตา จะได้น้ำหนักผลผลิต 300-500 กรัมต่อต้น หรืออย่างน้อย 1.5 ตันต่อไร่ต่อรอบ ซึ่งในรอบปีจะให้ผลผลิตได้ 6 รอบ