ศูนย์วิจัยและพัฒนาไม้ผลเขตร้อน (Tropical Fruit Research and Development Center) หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “ศูนย์ไม้ผล” ตั้งอยู่ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน บนพื้นที่ 60 ไร่ ซึ่งประกอบด้วย อาคารสำนักงาน-ห้องประชุมเอนกประสงค์ แปลงทดลอง แปลงพืชสาธิต โรงเรือนปลูกพืชทดลอง กระบะพ่นหมอกเพื่อใช้ในการขยายพันธุ์พืช อาคารเกษตร และเรือนเพาะชำ

          “ศูนย์ไม้ผล” มีภารกิจในการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไม้ผลเขตร้อน ครอบคลุมงานด้านพันธุศาสตร์และการปรับปรุงพันธุ์ เทคโนโลยีการผลิต การจัดการระบบการผลิตภายในสวนไม้ผล การรวบรวม อนุรักษ์ ขยายพันธุ์ และแลกเปลี่ยนพันธุ์ไม้ผลเขตร้อน และการถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ได้จากการวิจัยสู่สังคม

 ความเป็นมา

          วิทยาเขตกำแพงแสน ได้จัดตั้งศูนย์ไม้ผลเขตร้อน ขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 ในช่วงนั้น ได้มีการออกแบบแผนผังสวน และดำเนินการปรับพื้นที่ พร้อมกับปลูกต้นไม้ผลบางชนิดไว้แล้วจำนวนหนึ่ง แต่ขาดงบประมาณในการดำเนินการ ต่อมา ได้มีการพัฒนาพื้นที่ส่วนนี้อีกครั้งให้เป็นสวนพฤกษศาสตร์ทางไม้ผลเขตร้อน เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ เนื่องในวโรกาสทรงมีพระชนมายุครบ 60 พรรษา พร้อมกับเปลี่ยนชื่อเป็น สวนไม้ผลเขตร้อนเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา สมเด็จพระนางสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ (Tropical Fruit Garden in Honor of H. M. Queen Sirikit on Her Majesty’s 60th Birthday Anniversary) เมื่อปี พ.ศ. 2535 โดยให้อยู่ในความดูแลของ ศูนย์วิจัยและพัฒนาไม้ผลเขตร้อนและเขตกึ่งร้อน (ชื่อหน่วยงานในขณะนั้น) สังกัด สถาบันวิจัยและพัฒนา กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งต่อมาได้ปรับชื่อหน่วยงานเป็น ศูนย์วิจัยและพัฒนาไม้ผลเขตร้อน จนถึงปัจจุบัน    

          จากการปรับโครงสร้างการบริหารหน่วยงานในวิทยาเขตกำแพงแสนในปี พ.ศ. 2558 ศูนย์วิจัยและพัฒนาไม้ผลเขตร้อน ได้เข้ามาอยู่ในการกำกับดูแลของภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร กำแพงแสน แม้จะเป็นหน่วยงานขนาดเล็ก มีบุคลากรประจำเพียง 2 อัตรา แต่การปรับโครงสร้างการบริหารงานดังกล่าวทำให้ คณาจารย์ของคณะเกษตร กำแพงแสน เข้ามาเสริมความเข้มแข็งด้านการวิจัย และการบริการวิชาการที่เป็นภารกิจหลักของศูนย์ฯ ได้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งศูนย์ฯ ได้ขยายโอกาสในการสนับสนุนการเรียนการสอน ค้นคว้าวิจัย และการฝึกงานของนิสิตได้มากขึ้น

องค์ความรู้และผลงาน

          กิจกรรมที่ทำให้ “ศูนย์ไม้ผล” เป็นที่รู้จักในวงกว้างคือการให้บริการทางวิชาการในรูปของการฝึกอบรมระยะสั้น ซึ่งจัดเป็นโครงการ ต่อเนื่องตลอดทั้งปี  โดยมีคณาจารย์จากคณะเกษตร กำแพงแสน ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านไม้ผล และด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และมีประสบการณ์ภาคสนามที่ยาวนาน ร่วมเป็นวิทยากร บรรยาย สาธิต ให้คำแนะนำ และตอบข้อสงสัย ทั้งระหว่างการฝึกอบรม และหลังจากสิ้นสุดการอบรมไปแล้ว ผ่านทางโทรศัพท์และสื่อออนไลน์อย่างฉับไว ซึ่งได้รับการตอบรับจากผู้สนใจภายนอกเป็นอย่างดี หัวข้อฝึกอบรมที่จัดในรอบปี ได้แก่ เทคนิคการผลิตมะนาวนอกฤดู เทคนิคการผลิตใบมะกรูดเชิงการค้า การจัดทรงและการตัดแต่งทรงพุ่ม การขยายพันธุ์ไม้ผลเชิงธุรกิจ เทคนิคการผลิตผลฝรั่งเชิงธุรกิจ การผลิตมะม่วงนอกฤดู การผลิตมะละกอคุณภาพ ฮอร์โมนพืชกับการใช้ประโยชน์ การสร้างสวนผลไม้ยุคใหม่ และการผลิตมะพร้าวน้ำหอมเชิงการค้า เป็นต้น

 โครงการฝึกอบรม

          บุคลากรของ “ศูนย์ไม้ผล” ยังมีบทบาทสำคัญในการออกพื้นที่ พบปะเกษตรกร เพื่อให้คำแนะนำ แก้ไขปัญหาในกระบวนการผลิตไม้ผล ตรวจสอบคุณภาพเบื้องต้นของดินและน้ำในสวน รับฟังปัญหา ข้ออุปสรรคจากชาวสวนไม้ผล เพื่อนำมาพัฒนาเป็นโจทย์วิจัยต่อไป มีส่วนสนับสนุนในการตั้งกลุ่มเกษตรกร และการดำเนินกิจกรรมของกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกมะนาว และมะกรูดตัดใบ ทำงานร่วมกับกลุ่มไทย Q อาสา เพื่อเผยแพร่ความรู้การเกษตรสู่สังคม รวมทั้งสนับสนุนคณะเกษตร กำแพงแสน ในการออกไปทำกิจกรรมเพื่อชุมชน เช่น การสาธิต และถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตมะนาวในห่วงซีเมนต์ เป็นต้น

          โครงการวิจัยที่ดำเนินการในพื้นที่ของ “ศูนย์ไม้ผล” ในปี พ.ศ. 2559 นี้ ได้แก่ การปรับปรุงพันธุ์มะละกอ การผลิตมะละกอในโรงเรือนตาข่าย และการเพิ่มประสิทธิภาพในการขยายพันธุ์มะกรูดด้วยวิธีปักชำ

ติดตามรายละเอียดได้จาก Facebook  ดังนี้  ศูนย์วิจัยและพัฒนาไม้ผลเขตร้อน ภาควิชาพืชสวน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

บุคลากร

ผศ.ดร.วชิรญา  อิ่มสบาย
หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนาไม้ผลเขตร้อน
E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. 

 

นายสามารถ  เศรษฐวิทยา
ตำแหน่ง เจ้าหน้าที่วิจัย
E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

 

นายสุขะวัฒน์  ทองเหลี่ยว
ตำแหน่ง นักวิชาการเกษตร
E-mail : 

 

นายชาญ  สกุลหงษ์
ตำแหน่ง พนักงานทั่วไป

 

 เอกสารทางวิชาการ

เอกสารเผยแพร่วิชาการ 1 การผลิตมะนาวนอกฤดู
เอกสารเผยแพร่ทางวิชาการ การผลิตมะนาวในห่วงซีเมนต์โดยใช้ต้นพันธุ์กิ่งปักชำแบบเปลือยราก
เอกสารเผยแพร่ทางวิชการ ความหลากหลายของสายพันธุ์พืชตระกูลส้ม
เอกสารเผยแพร่ทางวิชาการ การผลิตใบมะกรูดเชิงการค้า
เอกสารเผยแพร่ทางวิชาการ เทคนิคการขยายพันธุ์มะนาวด้วยวิธีการปักชำ

ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน นครปฐม 73140

โทร. 034-351-934 โทรสาร 034-351-934