การปลูกกล็อกซิเนีย

กาญจน์เจริญ  ศรีอ่อน
ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

          กล็อกซิเนียเป็นไม้เนื้ออ่อน มีอายุอยู่ได้นานหลายฤดู (perennial plant) จัดอยู่ในวงศ์ Gesneriaceae มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Sinningia speciosa มีถิ่นกำเนิดมาจากประเทศบราซิล กล็อกซิเนียมีลำต้นสูง 15–30 เซนติเมตร มีหัวใต้ดิน (Tuber) ใบมีสีเขียวเข้มแผ่นใบหนาและอวบน้ำ ใบมีขนเล็กๆ คล้ายกำมะหยี่ เส้นกลางใบและเส้นใบแยกเห็นได้ชัดเจน ใบเป็นรูปรี ขอบใบหยักมน ใบล่างมีขนาดใหญ่กว่าใบบน และใบมักจะโค้งลงด้านล่างปิดขอบกระถาง ในขณะที่ดอกจะชูขึ้นเหนือทรงพุ่ม (ภาพที่ 1) ซึ่งมีความสวยงามมาก ดอกกล็อกซิเนียออกเป็นดอกเดี่ยว หรือออกเป็นกลุ่มตามซอกใบ กลุ่มละ 2–3 ดอก มีทั้งดอกชั้นเดียวและดอกซ้อน (ภาพที่ 2) ขนาดดอก 7–12 เซนติเมตร ดอกเป็นรูประฆัง (bell shaped) กลีบดอกมี 5–12 กลีบ บริเวณริมของกลีบดอกมีลักษณะเป็นคลื่น กลีบดอกมีเนื้อละเอียดเหมือนกำมะหยี่ (ภาพที่ 3) สีของดอกมีตั้งแต่ สีขาว ชมพู แดง ม่วง และมีสองสีในดอกเดียวกัน (วิทย์, 2542) การปลูกกล็อกซิเนียให้ประสบผลสำเร็จจะต้องอาศัยปัจจัยต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้องเช่น พันธุ์ การขยายพันธุ์ วัสดุปลูก การให้น้ำ การให้ปุ๋ย ความเข้มของแสง อุณหภูมิ โรคและแมลง

ซึ่งรายละเอียดต่างๆ จะได้นำเสนอในหัวข้อต่อไป


ภาพที่ 1
ลักษณะต้นกล็อกซิเนีย


ภาพที่ 2
เปรียบเทียบลักษณะดอกกล็อกซิเนีย (A) ดอกชั้นเดียว และ (B) ดอกซ้อน


ภาพที่
3 ส่วนประกอบของดอกกล็อกซิเนีย

 

  1. พันธุ์ และการแบ่งกล็อกซิเนียตามขนาดของต้น

          จากการคัดเลือกและปรับปรุงพันธุ์กล็อกซิเนียจนได้ลูกผสมที่มีลักษณะเด่นทั้งขนาดของต้น รูปทรงของดอก สีของกลีบดอก ซึ่งในปัจจุบันสามารถแบ่งกล็อกซิเนียออกเป็น 3 กลุ่ม ตามขนาดของต้นได้ดังนี้

          1.1 ต้นขนาดใหญ่ (large types) จัดเป็นขนาดมาตรฐานโดยนิยมปลูกในกระถางขนาด 5–6 นิ้ว  ซึ่งบริษัท เอ เอฟ เอ็ม ฟลาวเวอร์ ซีด จำกัด ได้นำเข้าและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ลูกผสมกล็อกซิเนียพันธุ์ต่างๆ  ซึ่งมีสีสันแตกต่างกันออกไปเช่น

– เอ็มเพรส มิกซ์ (Empress mix)  ต้นสูงประมาณ 15–20 เซนติเมตร มีกลีบดอกชั้นเดียว ดอกมีสีแดง ม่วง ม่วงอ่อน ชมพู และดอกสีขาวแต้มแดง เป็นต้น (ภาพที่ 4)

– ควิก เรด (Quick red) ต้นสูงประมาณ 10 เซนติเมตร กลีบดอกชั้นเดียว ดอกมีสีแดง (ภาพที่ 5)

– อแวนตี้ มิกซ์ (Avanti mix) ต้นสูงประมาณ 18 เซนติเมตร มีกลีบดอกชั้นเดียว ดอกมีสีขาว ม่วง แดงสด และแดงขอบขาว เป็นต้น

– ดับเบิ้ล โบรเคด มิกซ์ (Double brocade mix) ต้นสูงประมาณ 10–15 เซนติเมตร ดอกซ้อน ขนาดดอก 8–9 เซนติเมตร ออกดอกพร้อมกัน กลีบดอกมีสีแดง ม่วง และแดงขอบขาว ทรงพุ่มแน่นใบไม่ใหญ่ สามารถปลูกได้ทุกฤดู ออกดอกหลังย้ายปลูก 70–75 วัน (บริษัท เอ เอฟ เอ็ม ฟลาวเวอร์ ซีดส์ (ไทยแลนด์) จำกัด, 2549)

 
ภาพที่ 4 กล็อกซิเนียพันธุ์เอ็มเพรส มิกซ์

 
ภาพที่ 5 กล็อกซิเนียพันธุ์ควิก เรด

          1.2 ต้นขนาดกะทัดรัด (compact types)  เป็นกล็อกซิเนียที่มีขนาดต้นเล็กกว่าชนิดแรก ซึ่งเหมาะที่จะนำมาปลูกในกระถางขนาด 4.5–5 นิ้ว

          1.3 ต้นขนาดเล็ก (miniature types) เป็นกล็อกซิเนียที่มีขนาดต้นเล็กกว่าชนิด compact type ซึ่งเหมาะที่จะนำมาปลูกในกระถางขนาด 4 นิ้ว (ภาพที่ 6) โดยมีลักษณะของดอก 2 แบบ คือ ลักษณะคล้ายหลอด (tubular shaped) และลักษณะดอกคล้ายรูปรองเท้า (slipper shaped) ซึ่งในการปลูกกล็อกซิเนียประเภท miniature types พบว่ามีปัญหาในการปลูกน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับอีก 2 ชนิด อย่างไรก็ตามการปลูกกล็อกซิเนียในบ้านเรากล็อกซิเนียในกลุ่มที่มีต้นขนาดใหญ่ได้รับความนิยมมากกว่ากลุ่มอื่น


ภาพที่ 6 กล็อกซิเนียขนาดเล็ก
ที่มา: The Gesneriad Society (2019)

 

  1. การขยายพันธุ์

          การขยายพันธุ์กล็อกซิเนียสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ การเพาะเมล็ด การปักชำ และใช้หัวพันธุ์ปลูก แต่อย่างไรก็ตามการผลิตกล็อกซิเนียเพื่อจำหน่ายนิยมใช้วิธีการเพาะเมล็ดมากกว่าวิธีการอื่น เนื่องจากการเพาะเมล็ดจะทำให้ได้ต้นกล็อกซิเนียจำนวนมากและมีขนาดของต้นสม่ำเสมอกัน แต่สำหรับผู้ที่เริ่มปลูกกล็อกซิเนียและต้องการที่จะเพิ่มจำนวนต้นให้มากขึ้น ก็สามารถขยายพันธุ์ด้วยวิธีการปักชำใบได้ ถึงแม้ว่าจะได้จำนวนต้นไม่มากนัก แต่ต้นที่ได้จากการปักชำใบก็จะออกดอกให้เราได้ชื่นชมเร็วกว่าการเพาะเมล็ด ซึ่งรายละเอียดของการขยายพันธุ์ด้วยวิธีการต่างๆ มีดังนี้

          2.1 การเพาะเมล็ด เนื่องจากเมล็ดกล็อกซิเนียมีขนาดเล็กมากเมื่อเปรียบเทียบกับเมล็ดพันธุ์ไม้ดอกชนิดอื่น (ภาพที่ 7) โดยน้ำหนัก 1 กรัม จะมีเมล็ดประมาณ 26,000 เมล็ด (Sakata Ornamentals Europe, 2018) ดังนั้นการเพาะเมล็ดจึงต้องทำด้วยความประณีต เลือกใช้วัสดุเพาะที่ดีมีคุณภาพ วัสดุเพาะควรมีขนาดเล็กและปราศจากเชื้อโรค ปรับค่า pH ให้เหมาะสมกับการงอกและการเจริญเติบโตของต้นกล้า และประกอบด้วยธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืชซึ่งวัสดุที่นิยมนำมาใช้เพาะเมล็ดกล็อกซิเนียได้แก่ พีทมอส (ภาพที่ 8)

  
 ภาพที่ 7 ขนาดเมล็ดกล็อกซิเนียเมื่อเปรียบเทียบกับก้านไม้ขีดไฟ

 

 ภาพที่ 8 พีทมอสวัสดุเพาะเมล็ดกล็อกซิเนียและไม้ดอกชนิดต่างๆ

          ภาชนะสำหรับใส่วัสดุเพาะควรใช้กระถางดินเผาก้นตื้นขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 10–12 นิ้ว แล้วใช้ตาข่ายไนล่อนตัดเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมรองก้นกระถางเพื่อป้องกันวัสดุเพาะไหลออกทางรูระบายน้ำที่ก้นกระถาง  หลังจากนั้นนำวัสดุเพาะมาใส่ในกระถางประมาณ ¾ ของความสูงของกระถาง แล้วเกลี่ยผิวหน้าของวัสดุเพาะให้เรียบ ใช้กระบอกฉีดน้ำพ่นน้ำลงบนวัสดุเพาะเพื่อให้วัสดุเพาะมีความชื้นเพียงพอสำหรับการงอกของเมล็ด แต่อย่ารดน้ำจนวัสดุเพาะแฉะนอกจากนี้การรดน้ำยังช่วยให้วัสดุเพาะที่มีขนาดเล็กไหลมาปิดช่องว่างระหว่างวัสดุเพาะเพื่อป้องกันเมล็ดพันธุ์ไหลลงสู่ช่องว่างดังกล่าวซึ่งจะทำให้เมล็ดไม่สามารถงอกโผล่พ้นวัสดุเพาะขึ้นมาได้

          การโรยเมล็ดลงบนวัสดุเพาะถ้าใช้กระถางเพาะเมล็ดขนาด 12 นิ้ว ควรใช้เมล็ดพันธุ์ประมาณ 200–300 เมล็ดต่อกระถางเพราะถ้าโรยเมล็ดมากเกินจะทำให้ต้นกล้าที่งอกขึ้นมาเบียดกันแน่น และต้นกล้าที่ได้จะไม่แข็งแรง  ลำต้นสูงชะลูดทำให้เราต้องย้ายต้นกล้าออกจากกระถางเร็วเกินไปในขณะที่ต้นยังเล็กอยู่ ซึ่งทำให้การย้ายต้นกล้ามีความยากมากขึ้น ที่สำคัญจะต้องโรยเมล็ดลงในกระถางให้เมล็ดกระจายสม่ำเสมอทั่วกระถางและไม่ต้องกลบเมล็ดพันธุ์ หลังจากนั้นใช้กระบอกฉีดน้ำพ่นน้ำลงบนเมล็ดพันธุ์ที่เพาะแล้วใช้กระจกใสปิดด้านบนของกระถางโดยเปิดให้มีช่องสำหรับอากาศถ่ายเทได้ แล้วนำกระถางมาวางไว้ในห้องให้แสงสว่างโดยใช้หลอดไฟนีออนซึ่งแขวนอยู่เหนือกระถางประมาณ 35–40 เซนติเมตร โดยเปิดไฟนีออนเพื่อให้แสงวันละ 10–12 ชั่วโมง หรือนำกระถางที่เพาะเมล็ดพันธุ์ไปวางไว้ในโรงเรือนที่ป้องกันฝนได้และมีซาแลนช่วยพรางแสงประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ เมล็ดจะเริ่มงอกและมีใบเลี้ยง 1 คู่ เมื่ออายุประมาณ 7–12 วัน หลังจากวันเพาะเมล็ด

          การให้น้ำในช่วงที่เมล็ดยังไม่งอกอาจใช้กระบอกฉีดน้ำพ่นน้ำลงบนวัสดุเพาะ โดยให้วัสดุเพาะมีความชื้นอยู่เสมอ แต่อย่าให้วัสดุเพาะแฉะเพราะจะทำให้เมล็ดพันธุ์เน่าได้ เมื่อเมล็ดงอกแล้วจึงเปลี่ยนมาให้น้ำทางก้นกระถาง (sub irrigation) แทน โดยเทน้ำใส่จานรองกระถาง หลายท่านอาจสงสัยว่าแล้วเราจะทราบได้อย่างไรว่าเมื่อไรควรจะให้น้ำแก่ต้นกล้าให้เราสังเกตวัสดุเพาะเป็นเกณฑ์ ถ้าวัสดุเพาะยังมีความชื้นอยู่ก็ไม่จำเป็นต้องให้น้ำแต่ถ้าวัสดุเพาะเริ่มแห้งจึงให้น้ำโดยเทน้ำใส่จานรองกระถางเมื่อเห็นว่าวัสดุเพาะดูดซับน้ำจนมีความชื้นเพียงพอก็ให้เทน้ำที่เหลืออยู่ในจานรองทิ้ง ถ้าเราไม่เทน้ำในจานรองทิ้งจะทำให้วัสดุเพาะแฉะเกินและโอกาสที่ต้นกล้าจะเน่าตายก็มีมากขึ้น ต้นกล้ากล็อกซิเนียมีความต้องการน้ำน้อยดังนั้นการให้น้ำแต่ละครั้งอาจอยู่ได้นาน 3–4 วัน หรือมากกว่าทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม

          การย้ายต้นกล้า เมื่อต้นกล้ามีอายุได้ 35–40 วัน หรือเห็นว่าต้นเริ่มเบียดกัน (ภาพที่ 9) ให้ย้ายต้นกล้าลงในถาด 72 หลุม โดยใช้พีทมอสเป็นวัสดุปลูก และเนื่องจากต้นกล้ามีขนาดเล็กไม่สามารถใช้มือจับใบเลี้ยงของต้นกล้าได้จึงทำให้การย้ายปลูกต้นกล้ามีความยุ่งยากมากขึ้น วิธีการย้ายต้นกล้าทำได้โดยใช้ดินสอปลายแหลมช่วยแซะให้ต้นกล้าขึ้นจากวัสดุเพาะโดยพยายามอย่าให้รากขาดและอาจมีวัสดุเพาะติดมากับรากของต้นกล้าด้วย หลังจากนั้นใช้ลวดเส้นเล็กที่มีความยาวประมาณ 14 เซนติเมตร นำมาพับครึ่งแล้วบิดให้เป็นเกลียว โดยให้ด้านปลายของลวดมีลักษณะเป็นง่าม มีความกว้างประมาณ 4 มิลลิเมตร เพื่อใช้สำหรับสอดเข้าบริเวณใต้ใบของต้นกล้าแล้วยกต้นกล้าขึ้นเพื่อนำไปปลูกในถาด 72 หลุม (ภาพที่ 10) เมื่อย้ายต้นกล้าจนเต็มถาดหลุมจึงให้น้ำต้นกล้าจากทางด้านล่างของถาดหลุมจนวัสดุมีความชื้นพอจึงนำถาดหลุมไปวางไว้ในโรงเรือนที่ป้องกันฝนได้ และมีซาแลนพรางแสงประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ โดยเราจะเลี้ยงต้นกล้ากล็อกซิเนียให้อยู่ในถาดหลุมจนมีอายุได้ประมาณ 70 วัน (นับจากวันเพาะเมล็ด) ซึ่งต้นกล็อกซิเนียจะมีทรงพุ่มใหญ่ขึ้นและใบเริ่มซ้อนทับกัน (ภาพที่ 11) หลังจากนั้นจึงทำการย้ายปลูกต้นกล็อกซิเนียลงกระถางต่อไป ต้นกล็อกซิเนียที่ได้จากการเพาะเมล็ดจะเริ่มออกดอกเมื่ออายุ 120–140 วัน นับจากวันเพาะเมล็ด (ภาพที่ 12) โดยในแต่ละต้นจะสามารถออกดอกรุ่นแรกได้ตั้งแต่ 2–12 ดอก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพันธุ์ การดูแลรักษาและสภาพแวดล้อม (สมเพียร, 2548)

  

ภาพที่ 9 ต้นกล้ากล็อกซิเนียอายุ 40 วัน หลังจากเพาะเมล็ด

  

 ภาพที่ 10 การย้ายต้นกล้ากล็อกซิเนียลงปลูกในถาดหลุม

 

 ภาพที่ 11 ต้นกล็อกซิเนียอายุ 70 วัน หลังจากเพาะเมล็ด

 

ภาพที่ 12 ต้นกล็อกซิเนียอายุ 130 วัน หลังจากเพาะเมล็ด

 

          2.2 การปักชำ  การขยายพันธุ์ด้วยวิธีการปักชำใบนั้นมีหลายวิธีเช่น การตัดชำใบ การตัดชำใบที่มีตาติด และตัดชำในส่วนของแผ่นใบ ซึ่งการขยายพันธุ์ด้วยวิธีการปักชำนี้ไม่นิยมนำมาใช้ในเชิงการค้าเนื่องจากการขยายพันธุ์ในแต่ละครั้งจะได้จำนวนต้นน้อย ขนาดของต้นไม่สม่ำเสมอและใบที่นำมาใช้ปักชำมีโอกาสที่จะเน่าได้ง่าย

 2.2.1 การตัดชำใบ  (leaf petiole cuttings) ได้แก่การตัดชำใบให้มีก้านใบติดมาด้วย โดยคัดเลือกใบที่สมบูรณ์ไม่มีโรคและแมลงทำลาย ใบไม่แก่หรืออ่อนจนเกินไป ซึ่งโดยทั่วไปใบลักษณะดังกล่าวจะอยู่ช่วงกลางของลำต้น การตัดใบควรให้มีก้านใบติดมาประมาณ 1 นิ้ว เพื่อใช้ปักชำลงบนวัสดุ ส่วนวัสดุที่ใช้ปักชำได้แก่ พีทมอส หรือทรายผสมกับขุยมะพร้าวที่ร่อนเอาเส้นใยออกแล้วอัตราส่วน 1:1 สำหรับภาชนะที่นำมาใส่วัสดุปักชำได้แก่กระถางดินเผาก้นตื้น หรือ ตะกร้าพลาสติก เมื่อเราเตรียมวัสดุและอุปกรณ์ต่างๆ เสร็จแล้วให้นำวัสดุปักชำมาใส่กระถางประมาณ ¾ ของกระถาง หลังจากนั้นรดน้ำบนวัสดุให้ชุ่มแล้วนำใบกล็อกซิเนียมาปักชำลงในวัสดุให้ก้านใบปักลงไปในวัสดุประมาณ 1 นิ้ว หลังจากนั้นจึงนำกระถางไปวางไว้ในที่มีความชื้นสูงและมีแสงสว่างเล็กน้อย เช่น ทำตู้อบโดยใช้พลาสติกใสคลุมรอบด้าน แล้วนำมาวางไว้ใต้ชั้นวางต้นไม้ในโรงเรือนเพาะชำ หลังจากนั้นจึงนำกระถางที่ปักชำใบกล็อกซิเนียมาวางไว้ในตู้อบดังกล่าว  ทั้งนี้เพื่อลดการคายน้ำจากใบพืชทำให้ใบพืชสดอยู่เสมอ ส่วนการรดน้ำจะให้น้ำทางก้นกระถางเมื่อเห็นว่าวัสดุปักชำเริ่มแห้ง โดยพยายามอย่าให้น้ำเปียกใบในระหว่างการปักชำเพราะจะทำให้ใบเน่าได้ง่าย ภายหลังจากการปักชำใบกล็อกซิเนียจะสร้างหัวที่บริเวณโคนใบและเกิดเป็นต้นใหม่ นับจากวันเริ่มปักชำใบจนได้ต้นใหม่ใช้เวลาประมาณ 2 เดือน

 2.2.2 การตัดชำใบที่มีตาติด (leaves with bud cuttings) ได้แก่การตัดชำใบที่มีก้านใบติดและมีส่วนของตาซึ่งติดอยู่ที่โคนก้านใบ (axillary bud) ติดมาด้วย นั่นหมายความว่าเราจะต้องตัดต้นกล็อกซิเนียออกจากกระถาง แล้วใช้คัตเตอร์ตัดส่วนของลำต้นออกทีละชั้นใบ แต่เนื่องจากต้นกล็อกซิเนียแตกใบออกเป็นคู่ซึ่งอยู่ตรงข้ามกันดังนั้นให้เอาแต่ละชั้นใบมาแล้วใช้คัตเตอร์ผ่าตรงกลางส่วนของลำต้นซึ่งจะทำให้เราได้ใบที่มีตาติดจำนวน 2 ใบ (ภาพที่ 13) หลังจากนั้นจึงนำไปปักชำในกระถางดินเผาก้นตื้นใช้วัสดุเช่นเดียวกับวิธีแรก การปักชำใบให้เราปักก้านใบลงบนวัสดุลึกประมาณ 2 เซนติเมตร ให้แผ่นใบพาดขอบกระถาง แล้วนำไปวางไว้ในตู้อบ เช่นเดียวกับวิธีแรก หลังจากปักชำประมาณ 15–20 วัน เราก็จะได้ต้นกล็อกซิเนียต้นใหม่ (ภาพที่ 14) อย่างไรก็ตามการปักชำด้วยวิธีนี้ถ้าต้นกล็อกซิเนียอยู่ในระยะที่มีการพัฒนาตาดอกแล้วไม่ควรใช้ใบที่อยู่ส่วนบนของต้นเนื่องจากตาส่วนบนของลำต้นพัฒนาเป็นตาดอกแล้ว ดังนั้นเมื่อเรานำใบส่วนบนของต้นมาปักชำตาที่แตกขึ้นมาใหม่ก็จะเป็นดอกแทนที่จะเป็นต้นกล็อกซิเนีย

2.2.3 การตัดชำส่วนของใบ (veinlet cuttings) เป็นการนำเอาส่วนของใบกล็อกซิเนียที่มีความสมบูรณ์มาแล้วใช้ปลายมีดคัตเตอร์ตัดส่วนของเส้นใบให้ขาดออกจากกันในขณะที่แผ่นใบยังคงรูปเดิมอยู่ ซึ่งการกระทำใดๆ กับแผ่นใบต้องทำด้วยความระมัดระวังอย่าให้แผ่นใบช้ำเพราะจะทำให้ใบเน่าได้ง่าย  หลังจากนั้นนำแผ่นใบไปวางไว้บนวัสดุปักชำเช่นพีทมอส หรือทรายผสมกับขุยมะพร้าวที่ร่อนแล้วอัตราส่วน 1:1 ซึ่งวัสดุชำจะต้องมีความชื้นเพียงพอ ต่อจากนั้นจึงนำกระถางที่ใช้ชำแผ่นใบไปวางไว้ในที่มีความชื้นสูงเพื่อลดการคายน้ำ สำหรับการรดน้ำให้รดน้ำลงบนวัสดุปักชำ โดยอย่าให้น้ำเปียกใบกล็อกซิเนีย หรืออาจให้น้ำทางก้นกระถางก็ได้เช่นกัน หลังจากตัดชำส่วนของใบประมาณ 2 เดือน บริเวณเส้นใบที่ถูกตัดก็จะสร้างหัวขึ้นมาและแตกเป็นต้นกล้ากล็อกซิเนีย ต่อจากนั้นใบเก่าก็จะค่อยๆ เสื่อมสภาพไปในที่สุด อย่างไรก็ตามการปักชำใบด้วยวิธีนี้มีโอกาสที่ใบจะเน่าได้ง่ายกว่าการปักชำใบวิธีอื่นๆ

 

 ภาพที่ 13 การตัดใบที่มีก้านใบและมีส่วนของตาติดมาด้วย 

 

 ภาพที่ 14 ต้นกล็อกซิเนียที่ได้จากการปักชำใบที่มีตาติด

           2.3 การใช้หัวพันธุ์ปลูก การขยายพันธุ์กล็อกซิเนียโดยใช้หัวพันธุ์ปลูกส่วนใหญ่เป็นหัวที่ได้มาจากต้นเดิมที่เราปลูกไว้ ปกติกล็อกซิเนียจะออกดอกรุ่นแรกเมื่ออายุประมาณ 120–140 วัน เมื่อดอกรุ่นแรกหมดต้นกล็อกซิเนียก็จะพักตัวและใช้เวลาในการสะสมอาหารประมาณ 45–60 วัน ก็จะออกดอกรุ่นที่สอง  หลังจากนั้นต้นก็จะเริ่มโทรมในระยะนี้ให้เรางดน้ำและงดปุ๋ยปล่อยให้ต้นเหี่ยว แล้วจึงขุดเอาหัวกล็อกซิเนียขึ้นมา (ภาพที่ 15) เพื่อนำไปปลูกในวัสดุปลูกใหม่ ในระยะแรกต้นกล็อกซิเนียต้องการน้ำน้อยดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องรดน้ำทุกวันเพราะจะทำให้หัวเน่าได้ เมื่อต้นกล็อกซิเนียแตกยอดใหม่ซึ่งจะแตกยอดมากกว่า 1 ยอด ให้เราเลือกยอดที่สมบูรณ์ที่สุดไว้แล้วเด็ดยอดที่เหลือทิ้ง ทั้งนี้เพื่อให้ได้ต้นกล็อกซิเนียที่สมบูรณ์เพียงต้นเดียวและมีรูปทรงต้นที่สวยงามต้นไม่ยืดและมีดอกขนาดใหญ่มากกว่าการปล่อยให้มีหลายต้นในหัวเดียวกัน

 

ภาพที่ 15 หัวพันธุ์กล็อกซิเนีย

  1. โรงเรือนปลูกกล็อกซิเนีย

           กล็อกซิเนียจัดเป็นไม้ดอกในร่มรำไร ต้องการแสงไม่มากโดยในช่วงการเพาะเมล็ดพันธุ์ต้องการความเข้มของแสงประมาณ  850-1,000 ฟุตแคนเดิล ในระยะต้นกล้าต้องการความเข้มของแสงประมาณ 1,500 ฟุตแคนเดิล และในระยะที่ปลูกในกระถางต้องการความเข้มของแสงไม่เกิน 2,400 ฟุตแคนเดิล

กล็อกซิเนียเจริญเติบโตได้ดีเมื่อได้รับอุณหภูมิตอนกลางวัน 75 F ต้องการอุณหภูมิตอนกลางคืน 65 F (Pertuit, 1999) และต้องการความชื้นสูงดังนั้นการปลูกกล็อกซิเนียเพื่อการค้าจึงจำเป็นต้องสร้างโรงเรือนที่สามารถลดความเข้มของแสง ลดอุณหภูมิของอากาศในขณะเดียวกันก็สามารถป้องกันฝนได้ ซึ่งจากการทดลองเลี้ยงกล็อกซิเนียในโรงเรือนเพาะชำภายใต้หลังคาพลาสติกเพื่อป้องกันฝนแล้วใช้ซาแลนพรางแสงประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ พบว่าสามารถปลูกเลี้ยงกล็อกซิเนียได้ดีทั้งในฤดูหนาว และฤดูฝน ต้นกล็อกซิเนียเจริญเติบโตและออกดอกสวยงาม ดอกมีสีสด กลีบดอกไม่เหี่ยวง่าย และมีอายุการบานของดอกนาน ในขณะที่ในฤดูร้อนมีแสงแดดจัดและอุณหภูมิสูง จึงทำให้กลีบดอกเหี่ยวและร่วงโรยได้ง่าย สีของกลีบดอกซีดจางไม่สดใสเหมือนกับที่ปลูกในฤดูหนาว

  1. วัสดุปลูก

       วัสดุปลูกนับว่ามีความสำคัญต่อการปลูกกล็อกซิเนียอย่างมากเพราะถ้าหากวัสดุปลูกมีคุณสมบัติไม่ดีโอกาสที่จะผลิตกล็อกซิเนียให้ประสบความสำเร็จก็เป็นเรื่องยาก วัสดุปลูกที่ดีต้องผ่านการฆ่าเชื้อ วัสดุปลูกต้องโปร่ง ระบายน้ำและอากาศได้ดี แต่ในขณะเดียวกันก็สามารถอุ้มน้ำไว้ได้ นอกจากนี้ยังต้องมีอินทรียวัตถุสูง และมีปริมาณธาตุอาหารที่จำเป็นและเพียงพอต่อการเจริญเติบโตของต้นกล็อกซิเนีย ตัวอย่างวัสดุที่ใช้ปลูกกล็อกซิเนีย เช่น พีทมอส  ใบไม้ผุ  ขุยมะพร้าว ซุปเปอร์ฟอสเฟต กระดูกป่น  ทรายหยาบ  เปลือกถั่ว perlite และ vermiculite เป็นต้น วัสดุปลูกควรมีค่า pH อยู่ในช่วง 6.0–6.5 และค่า EC 1.2 มิลลิโมล์ต่อเซนติเมตร (mmho/cm) (Sakata Ornamentals Europe, 2018) อย่างไรก็ตามชนิดของวัสดุที่จะนำมาใช้นอกจากมีคุณสมบัติตามที่เราต้องการแล้ว ต้องหาได้ง่ายในท้องถิ่นและมีราคาไม่แพง ซึ่งจะทำให้ราคาต้นทุนในการผลิตต่ำลง ตัวอย่างวัสดุปลูกกล็อกซิเนียมีดังนี้

           สูตรที่ 1        ขุยมะพร้าว       1        ส่วน
                             ใบจามจุรีหมัก    1        ส่วน
                             ทรายหยาบ    1        ส่วน        

          สูตรที่ 2         เปลือกถั่ว         1        ส่วน
                             ทรายหยาบ      1        ส่วน
                             ขุยมะพร้าว       1        ส่วน

          สูตรที่ 3         พีทมอส           1        ส่วน
                             ใบจามจุรีหมัก    1        ส่วน
                             ขุยมะพร้าว       1        ส่วน
                             ทรายหยาบ      1        ส่วน         

          สูตรที่ 4         พีทมอส           2        ส่วน
                             เพอร์ไลต์         1        ส่วน
                             เวอร์มิคูไลต์       1        ส่วน

          ในการผสมวัสดุปลูก 1 ลูกบาศก์เมตร ควรเติมกระดูกป่น 1 กิโลกรัม กระดูกป่นเป็นปุ๋ยอินทรีย์ธรรมชาติซึ่งจะปลดปล่อยธาตุอาหารอย่างช้าๆ มีคุณสมบัติเหมาะสำหรับผสมวัสดุปลูก ช่วยทำให้ต้นกล็อกซิเนียเจริญเติบโตและงดงามมากขึ้น นอกจากนี้จากตัวอย่างวัสดุปลูกทั้ง 4 ชนิด ไม่มีดินร่วนเป็นส่วนประกอบทั้งนี้เนื่องจากวัสดุปลูกที่มีดินร่วนเป็นส่วนประกอบจะทำให้วัสดุปลูกอุ้มน้ำมากเกินมีผลทำให้ต้นกล็อกซิเนียเจริญเติบโตช้า ส่วนของยอดและใบมีสีเขียวเข้ม และมีโอกาสที่จะเกิดโรครากเน่า โคนเน่าได้

 

  1. การให้น้ำ

          น้ำและการให้น้ำนับว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญปัจจัยหนึ่งในการปลูกกล็อกซิเนีย เริ่มตั้งแต่กล็อกซิเนียในระยะต้นกล้าที่อยู่ในกระถางเพาะเมล็ด หรือในระยะที่ย้ายลงปลูกในถาดหลุม เราจำเป็นต้องให้น้ำทางก้นกระถาง (sub irrigation) เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้น้ำเปียกใบและยอดของต้นกล้า เนื่องจากใบของกล็อกซิเนียประกอบไปด้วยขนเส้นเล็กๆ จำนวนมากทั้งด้านหน้าใบและหลังใบ เมื่อใบกล็อกซิเนียเปียกน้ำจะทำให้ส่วนของใบเก็บน้ำและความชื้นไว้ได้นานจึงเปิดโอกาสให้เกิดโรคทางใบได้ง่าย แต่เมื่อย้ายต้นกล็อกซิเนียลงปลูกในกระถางขนาด 5 นิ้วแล้ว การให้น้ำอาจจะใช้วิธีรดน้ำบริเวณโคนต้น ให้น้ำแบบระบบน้ำหยด หรือจะให้น้ำทางก้นกระถางโดยใช้พลาสติกปูบนชั้นวางต้นไม้ แล้วนำทรายหยาบมาใส่หนาประมาณ 1.5 นิ้ว  หลังจากนั้นวางกระถางไปบนทรายแล้วเปิดน้ำเพื่อให้ทรายมีความชื้นอยู่เสมอ วิธีนี้นอกจากเป็นการให้น้ำทางก้นกระถางแล้วยังเป็นการช่วยเพิ่มความชื้นในบรรยากาศได้ดีอีกทางหนึ่งด้วย  อย่างไรก็ตามการรดน้ำต้นกล็อกซิเนียที่ปลูกในกระถางในช่วงที่ยังไม่ออกดอกเราสามารถรดน้ำให้เปียกใบพืชสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง  เพื่อช่วยชะล้างฝุ่นต่างๆ ที่มาเกาะตามใบ ทำให้ใบพืชมีสีเขียวและดูสดชื่นมากขึ้น (ภาพที่ 16) โดยหลังจากรดน้ำให้เปียกใบแล้ว น้ำควรจะแห้งและระเหยไปโดยเร็ว  ดังนั้นจึงควรเลือกรดน้ำเพื่อล้างใบในวันที่ท้องฟ้าเปิดและมีแสงแดดนานพอที่จะทำให้น้ำระเหยออกจากใบจนหมด การรดน้ำต้นกล็อกซิเนียไม่จำเป็นต้องรดน้ำทุกวันเพราะจะทำให้หัวกล็อกซิเนียเน่าได้ การรดน้ำให้สังเกตวัสดุปลูกและต้นกล็อกซิเนียเป็นเกณฑ์ ถ้าวัสดุปลูกยังชื้นอยู่และต้นพืชดูสดชื่นไม่เหี่ยวก็ไม่จำเป็นต้องรดน้ำ ต้นกล็อกซิเนียที่ขาดน้ำจะแสดงอาการใบเหี่ยว ขอบใบตกดูไม่สดชื่น ถ้ามีดอกก้านดอกจะอ่อน กลีบดอกเหี่ยวและร่วงได้ง่าย

 

ภาพที่ 16 การรดน้ำล้างฝุ่นต่างๆ ที่มาเกาะตามใบทำให้ใบพืชมีสีเขียวและดูสดชื่นมากขึ้น

  1. การให้ปุ๋ย

 ปุ๋ยหรือธาตุอาหารพืชนับว่าเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเจริญเติบโตของต้นกล็อกซิเนีย แต่ทั้งนี้ต้องใช้ปุ๋ยให้เหมาะสมกับระยะของการเจริญเติบโตและปริมาณความต้องการของพืช ในช่วงเดือนแรกของการเพาะเมล็ดในระยะนี้ต้นกล้ามีความต้องการปุ๋ยในปริมาณน้อย ซึ่งวัสดุที่ใช้เพาะเมล็ด (พีทมอส) มีปริมาณธาตุอาหารที่เพียงพอกับการเจริญเติบโตของต้นกล้า เมื่อต้นกล้ามีอายุได้ 40 วัน ซึ่งเป็นช่วงที่มีอัตราการเจริญเติบโตเพิ่มขึ้นดังนั้นจึงจำเป็นต้องให้ปุ๋ยเคมีเพิ่มโดยใช้ปุ๋ยเกร็ดสูตร 20–20–20 ละลายน้ำในอัตรา 10–15 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร โดยให้ ทางด้านล่างของถาดหลุม (sub irrigation) แทนการให้น้ำเปล่าสัปดาห์ละ 1 ครั้ง จนกว่าจะย้ายต้นกล้าลงปลูกในกระถาง สำหรับการให้ปุ๋ยต้นกล็อกซิเนียที่อยู่ในกระถางอาจจะใช้ปุ๋ยละลายช้าสูตร 14–14–14 ต้นละ 5 กรัม หรือจะใช้ปุ๋ยเกร็ดสูตร 20–20–20 อัตรา 20–30 กรัมผสมน้ำ 20 ลิตร รดที่โคนต้นสัปดาห์ละ 1–2 ครั้ง นอกจากนี้ Sakata Ornamentals Europe (2018) แนะนำให้ใช้ปุ๋ยแคลเซียมไนเตรทในช่วงหลังการย้ายปลูกที่ความเข้มข้น 100 ppm N และเพิ่มความเข้มข้นขึ้นเป็น 150 ppm N เมื่อต้นกล็อกซิเนียตั้งตัวได้แล้ว โดยค่า EC ที่เหมาะสมควรอยู่ในช่วง 1.0–1.2 มิลลิโมท์/ เซนติเมตร นอกจากนี้ต้นกล็อกซิเนียยังไวต่อการขาดโบรอน โดยต้นที่แสดงอาการขาดธาตุจะมีใบสีเขียวเข้ม ใบหงิก ดังนั้นจึงควรปรับค่า pH ของวัสดุปลูกให้อยู่ระหว่าง 6.0–6.5 และให้ปุ๋ยโบรอนที่ความเข้มข้น 0.25 ppm นอกจากนี้ต้นกล็อกซิเนียที่ขาดธาตุแมงกานีส และธาตุเหล็กจะพบว่าใบมีขนาดเล็กลง ใบมีสีเหลืองแต่เส้นใบยังคงเขียวอยู่ (ภาพที่ 17) ดังนั้นในการให้ปุ๋ยไปกับระบบน้ำนอกจากธาตุอาหารหลักแล้วจึงควรให้ธาตุอาหารรอง และธาตุอาหารเสริมเพื่อป้องกันการขาดธาตุอาหารต่างๆ

 

 

ภาพที่ 17 ลักษณะต้นกล็อกซิเนียที่แสดงอาการขาดธาตุแมงกานีส และธาตุเหล็ก

 

  1. โรคและการป้องกันกำจัด

 7.1 โรครากเน่า (root rot) เป็นโรคที่พบได้ทั้งในระยะต้นกล้าและต้นโตเกิดจากเชื้อ Pythium โดยเชื้อราชนิดนี้อาศัยอยู่ในดิน เมื่อสภาพแวดล้อมในดินเหมาะสมกับการเจริญของเชื้อราก็จะเกิดการระบาดและเข้าทำลายระบบรากของต้นกล็อกซิเนีย ทำให้รากมีสีน้ำตาลเข้ม ต้นกล็อกซิเนียจะแสดงอาการเหี่ยว ใบเหลืองและตายในที่สุด (ภาพที่ 18) การป้องกันโรครากเน่า เราควรใช้วัสดุปลูกที่สะอาด ผ่านการฆ่าเชื้อ วัสดุปลูกต้องระบายน้ำได้ดี และปรับสภาพความเป็นกรด–ด่างให้อยู่ระหว่าง 6.0–7.0 (Moorman, 2016) และรดน้ำอย่าให้มากเกินจนวัสดุปลูกแฉะ สารเคมีที่นิยมใช้ในการป้องกันโรครากเน่าได้แก่ metalaxyl มีชื่อการค้าเช่น Ridomil 25  WP. ใช้ควบคุมโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราชั้นต่ำเช่น Pythium ได้ดี

 7.2  โรคเหี่ยว (crown  rot)  เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อ Phytopthora nicotianae ต้นกล็อกซิเนียที่เป็นโรคจะพบว่ารากมีสีคล้ำ นอกจากนี้เชื้อรายังแพร่กระจายไปยังก้านใบ และแผ่นใบ โดยในระยะแรกใบจะมีจุดสีน้ำตาลเล็กๆ ต่อมาจุดดังกล่าวก็จะขยายใหญ่ขึ้นจนเป็นแผลสีน้ำตาลขนาดใหญ่ การป้องกันและกำจัด ไม่ควรนำส่วนของพืชที่เป็นโรคไปใช้ในการขยายพันธุ์ อบวัสดุปลูกโดยใช้ความร้อนสูง (pasteurize) เพื่อฆ่าเชื้อโรคต่างๆ ที่ติดมากับวัสดุปลูก เมื่อพบต้นพืชที่เป็นโรคให้กำจัดทิ้ง (Moorman, 2016)  

 

ภาพที่ 18 ต้นกล็อกซิเนียที่เป็นโรครากเน่า

  

  1. แมลงและการป้องกันกำจัด

 8.1 เพลี้ยไฟ (Thrips) เป็นแมลงจำพวกปากดูดที่มีขนาดเล็กมาก ลำตัวยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร ตัวอ่อนมีสีเหลือง ตัวแก่สีน้ำตาลปนแดง ตัวแก่มีปีกซึ่งมีลักษณะแคบและยาวมีการเคลื่อนไหวรวดเร็วมาก การทำลายของเพลี้ยไฟจะดูดกินน้ำเลี้ยงบริเวณใต้ใบและยอดอ่อนของต้นกล็อกซิเนีย ทำให้ยอดและใบอ่อนหงิกงอ ไม่เจริญเติบโต ด้านใต้ใบโดยเฉพาะบริเวณที่เพลี้ยไฟเข้าทำลายจะเกิดเป็นรอยด้านสีน้ำตาล เพลี้ยไฟระบาดมากตั้งแต่ปลายฤดูหนาวถึงฤดูร้อนที่มีสภาพอากาศแห้งแล้ง การป้องกันและกำจัดโดยใช้สารเคมีจำพวก คาร์โบซัลแฟน มาลาไธออน เอ็นโดซัลแฟน อย่างใดอย่างหนึ่งพ่นในช่วงที่เพลี้ยไฟเริ่มระบาด ส่วนอัตราที่ใช้และวิธีการใช้ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำบนฉลากข้างขวด

 8.2 ไรแดง (Red spider mites) เป็นแมลงจำพวกปากดูดที่มีขนาดเล็กมาก แต่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ตัวไรแดงมองเห็นเป็นจุดสีแดงเล็กๆ รูปร่างค่อนข้างกลม มักจะอยู่รวมกันเป็นกลุ่มบริเวณใต้ใบ โดยเฉพาะใบแก่ที่อยู่ตอนล่างๆ ของต้น ไรแดงจะทำลายต้นกล็อกซิเนียโดยใช้ปากดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบทำให้ผิวด้านล่างของใบสาก ไม่เรียบ และเมื่อไรแดงเข้าทำลายจำนวนมากจะทำให้ใบเหลืองต้นทรุดโทรมเร็วกว่าปกติ สารเคมีที่ใช้ป้องกันกำจัดไรแดงได้แก่ มาลาไธออน และกำมะถันผง เป็นต้น

 8.3 เพลี้ยแป้ง (Mealy bugs) เป็นแมลงจำพวกปากดูด มีลำตัวอ่อนนุ่ม บริเวณลำตัวปกคลุมด้วยผงสีขาว ลำตัวค่อนข้างกลม ด้านบนนูนคล้ายหลังเต่า ด้านล่างของลำตัวแบน เพลี้ยแป้งเป็นแมลงที่เคลื่อนที่ได้ช้า และมักจะเกาะอยู่รวมกันเป็นกลุ่มบริเวณใต้ใบโดยเฉพาะใบแก่ เพลี้ยแป้งจะเข้าทำลายต้นกล็อกซิเนียโดยการดูดกินน้ำเลี้ยงทำให้ใบเหี่ยวได้ง่ายและต้นชะงักการเจริญเติบโต สารเคมีที่ใช้ป้องกันและกำจัดเพลี้ยแป้งได้แก่ มาลาไธออน และอิมิดาคลอพริด เป็นต้น

  1. สรุปและข้อเสนอแนะ

 การผลิตกล็อกซิเนียเพื่อจำหน่ายเป็นไม้ดอกกระถางนับว่าเป็นอาชีพเสริมอาชีพหนึ่งที่น่าสนใจ เนื่องจากกล็อกซิเนียเป็นไม้ดอกที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ มีรูปทรงของต้นและดอกที่สวยงามสามารถดึงดูดใจผู้พบเห็นได้เป็นอย่างดี นิยมนำมาใช้ตั้งประดับในอาคาร สำนักงาน ราคาจำหน่ายกล็อกซิเนียในปัจจุบันอยู่ในช่วง 100-150 บาท/ กระถาง ซึ่งใช้ระยะเวลาตั้งแต่ปลูกจนถึงออกดอกประมาณ 120-140 วัน ในแง่ของการปลูกเลี้ยงหากเข้าใจลักษณะนิสัยและความต้องการของพืชแล้วการปลูกกล็อกซิเนียจึงไม่ใช่เรื่องยาก สามารถปลูกเลี้ยงได้ทุกภาคของประเทศ โดยเฉพาะในฤดูหนาวจะได้ต้นที่มีคุณภาพมากกว่าฤดูกาลอื่นๆ  

เอกสารอ้างอิง

 บริษัท เอ เอฟ เอ็ม ฟลาวเวอร์ ซีดส์ (ไทยแลนด์) จำกัด. 2549. คู่มือเมล็ดพันธุ์ 2007-2008. ม.ป.ท.

 วิทย์  เที่ยงบูรณธรรม. 2542. พจนานุกรมไม้ดอกไม้ประดับในเมืองไทย. บริษัท รวมสาสน์ (1977) จำกัด, กรุงเทพฯ.

 สมเพียร  เกษมทรัพย์. 2548. การปลูกไม้ดอก. ห้างหุ้นส่วนจำกัด ฟันนี่ พับบลิสซิ่ง, กรุงเทพฯ.

 Moorman, G.W. 2016. Gloxinia diseases. Available Source: https://extension.psu.edu/gloxinia-diseases, May 13, 2019.

 Pertuit, A. 1999. Gloxinias Clemson extension. Available Source : http://hgic.clemson.edu/, May 2, 2018.

 Sakata Ornamentals Europe. 2018. Sinningia speciosa F1 Avanti. Available Source : http://sakataornamentals.eu/pot-plant/sinningia/avanti, May 2, 2019.

 The Gesneriad Society. 2019. 2018 Blue Ribbon and Special Awards Entries. Available Source : http://www.gesneriadsociety.org/conventions/2018-convention-framingham-massachusetts/2018-blue-ribbon-and-special-awards-entries/, May 2, 2019.  

หมายเหตุ เผยแพร่วันที่ 27 พฤษภาคม 2562