การปลูกดาวเรืองประดับ

โดย คุณกาญจน์เจริญ  ศรีอ่อน  นักวิชาการเกษตร ชำนาญการพิเศษ

ดาวเรืองชนิดที่นิยมปลูกในปัจจุบันได้แก่ดาวเรืองอเมริกัน มีชื่อสามัญว่า  American Marigold และมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Tagetes erecta มีถิ่นกำเนิดอยู่ในเม็กซิโก การปลูกดาวเรืองนับว่าเป็นอาชีพหนึ่งที่ทำรายได้ให้แก่เกษตรผู้ปลูกและใช้ระยะเวลาตั้งแต่เริ่มปลูกจนถึงจำหน่ายได้ประมาณ 55-65 วัน (นับจากวันเพาะเมล็ด) ดาวเรืองที่ได้รับความนิยมในการปลูกมากที่สุดคือ ดาวเรืองตัดดอก รองลงมาได้แก่ดาวเรืองประดับ พันธุ์ดาวเรืองในแต่ละประเภทมีลักษณะที่แตกต่างกันเช่น ดาวเรืองตัดดอกมีลำต้นสูง ทรงพุ่มใหญ่ ดอกมีขนาดใหญ่ ก้านดอกยาว สีดอกที่ตลาดนิยมได้แก่สีทอง เช่น พันธุ์ทองเฉลิมโกลด์ ขุนตาลโกลด์ ซอฟเวอร์เรนโกลด์ เป็นต้น ส่วนดาวเรืองประดับมีขนาดของต้นเล็กกะทัดรัด ดอกมีขนาดเล็กกว่าดาวเรืองตัดดอก ดังนั้นการเลือกพันธุ์ดาวเรืองเพื่อปลูกลงกระถาง หรือถุงชำเพื่อนำไปตั้งประดับในช่วงพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ระหว่างวันที่ 25-29 ตุลาคม 2560 จึงมีความจำเป็นอย่างมาก แต่หากเกษตรกรต้องการปลูกเพื่อประดับแปลงในพื้นที่ของตนเองและไม่ต้องเคลื่อนย้ายต้นไปไหนสามารถปลูกลงแปลงได้และเลือกพันธุ์ดาวเรืองตัดดอกมาปลูกก็จะทำให้ได้ประโยชน์ทั้งประดับ และเมื่อเสร็จงานพระราชพิธีฯ ก็สามารถตัดดอกจำหน่ายได้

  1. พันธุ์ดาวเรืองประดับ

            พันธุ์ดาวเรืองสำหรับปลูกประดับจัดเป็นไม้ดอกกระถางที่มีลักษณะเด่นคือ มีต้นเตี้ย ทรงพุ่มแน่น ต้นเล็กกะทัดรัด ต้นไม่สูงเมื่อเปรียบเทียบกับดาวเรืองตัดดอกเมื่อนำไปใช้ตั้งประดับแล้วต้นจะไม่ค่อยล้ม กิ่งไม่ฉีก ก้านดอกสั้น มีอายุการออกดอกเร็ว ซึ่งในปัจจุบันดาวเรืองกระถางมีอยู่หลายพันธุ์ เช่น พันธุ์สยามเยลโล ซุปเปอร์โกลด์ คิงเยลโล เหลืองเชียงใหม่ กาลอร์ วีนัสสีเหลือง เป็นต้น (ภาพที่ 1) ซึ่งขนาดของต้น ขนาดดอก และอายุการออกดอกก็จะแตกต่างกันไปในแต่ละพันธุ์ (ตารางที่ 1) 

ตารางที่ 1 เปรียบเทียบพันธุ์ดาวเรืองประดับกับพันธุ์ดาวเรืองตัดดอกบางพันธุ์

ลำดับที่

พันธุ์ดาวเรือง

บริษัทผู้จำหน่าย

ขนาดดอก(ซม.)

ความสูงของต้น(ซม.)

ความกว้างของทรงพุ่ม(ซม.)

อายุดอกแรกบาน (วัน)

1

ดิสคัฟเวอร์รี่ฯ *

บ. เอ เอฟ เอ็มฯ

4-5

20-25

-

60-65

2

พันธุ์คิงเยลโล

หจก. โฮมซีดส์

8-10

30-35

30-35

50-55

3

พันธุ์สฟิงซ์ โกลด์

หจก. โฮมซีดส์

8-10

30-35

30-35

55-60

4

ฟีนิกซ์ 999

หจก. โฮมซีดส์

8-10

25-30

25-30

55-60

5

พันธุ์เหลืองเชียงใหม่

บ. เอกะอะโกร

8-10

40-50

35-40

60-65

6

พันธุ์แอนทิกัว *

บ. เอ เอฟ เอ็มฯ

7-8

25-30

-

70-75

7

พันธุ์กาลอร์ *

บ. เอ เอฟ เอ็มฯ

9-10

35-40

-

60-65

8

พันธุ์วีนัสสีเหลือง

บ. อีส เวสท์ ซีดส์

-

-

-

-

9

พันธุ์ซุปเปอร์เยลโล

บ. ซันสตาร์ ซีดส์

8-10

40-50

-

55-65

10

พันธุ์ขุนตาลโกลด์

หจก. โฮมซีดส์

8-10

80-90

50-55

60-65

หมายเหตุ 1. ดาวเรืองพันธุ์ขุนตาลโกลด์เป็นดาวเรืองที่เหมาะสำหรับปลูกตัดดอกเนื่องจากมีขนาดของต้นที่สูงใหญ่กว่าดาวเรืองพันธุ์อื่นๆ และดอกมีสีเหลืองทอง

  1. * ข้อมูลรายละเอียดของพันธุ์อ้างอิงจากการปลูกในสภาพวันสั้นของบริษัทผู้จำหน่ายเมล็ดพันธุ์
  2. อายุการออกดอก ขนาดของทรงพุ่มอาจเปลี่ยนแปลงได้ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการปลูก การดูแลรักษา และฤดูกาลที่ปลูก

 

ภาพที่ 1 เปรียบเทียบพันธุ์ดาวเรืองประดับพันธุ์สยามเยลโล ซุปเปอร์โกลด์ และพันธุ์วีนัสที่ปลูกในกระถางขนาด 8 นิ้ว


  1. การเพาะเมล็ดดาวเรือง
  • 1 การเลือกซื้อเมล็ดพันธุ์ดาวเรือง

การเลือกซื้อเมล็ดพันธุ์ดาวเรืองที่มีคุณภาพเป็นเรื่องสำคัญ ควรเลือกซื้อเมล็ดพันธุ์จากบริษัทที่เชื่อถือได้ เมล็ดพันธุ์ดาวเรืองที่ดีจะต้องมีเปอร์เซ็นต์การงอกสูงประมาณ 80-90 เปอร์เซ็นต์ เมล็ดพันธุ์ต้องสะอาดปราศจากสิ่งเจือปน มีฉลากระบุวันหมดอายุ (ภาพที่ 2) เมล็ดพันธุ์ที่ซื้อมาต้องไม่หมดอายุการทำพันธุ์ มีระบบการจัดเก็บเมล็ดพันธุ์ที่ดี ไม่ควรซื้อเมล็ดพันธุ์ที่มีการจัดเก็บไม่ถูกต้อง หรือวางในที่แสงแดดส่องถึงเพราะจะทำให้เมล็ดพันธุ์เสื่อมคุณภาพและเปอร์เซ็นต์การงอกลดลงจากที่ระบุไว้

ภาพที่ 2 ตัวอย่างซองบรรจุเมล็ดพันธุ์ดาวเรือง

  • 2 วัสดุเพาะเมล็ด

2.2.1 พีทมอส (Peat moss) เป็นวัสดุเพาะเมล็ดที่มีความละเอียด ผ่านการอบฆ่าเชื้อ มีค่า EC (Electric conductivity) หรือค่าการนำไฟฟ้าของเกลือทั้งหมดที่ละลายอยู่ในน้ำอยู่ในเกณฑ์ต่ำ มีการปรับค่า pH และเพิ่มธาตุอาหารที่จำเป็นสำหรับการเจริญเติบโตของพืช จึงทำให้พีทมอสเป็นวัสดุเพาะที่ดีในการเพาะเมล็ดดาวเรือง และเพาะเมล็ดไม้ดอกชนิดอื่นๆ (ภาพที่ 3)

ภาพที่ 3 พีทมอสวัสดุเพาะดาวเรืองและเพาะเมล็ดพันธุ์ไม้ดอก

2.2.2 วัสดุผสมสำหรับเพาะเมล็ดดาวเรือง

ในกรณีที่ไม่มีพีทมอสหรือต้องการลดต้นทุนค่าวัสดุเพาะเมล็ดเราสามารถใช้วัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่นเช่น ทรายหยาบ ขุยมะพร้าว แต่ก่อนนำมาใช้งานต้องร่อนเอาเส้นใยออกเอาเฉพาะส่วนของขุยมะพร้าวมาใช้ ทรายหยาบก็เช่นเดียวกันให้ใช้ตะกร้าร่อนเอาเฉพาะทรายที่มีขนาดเล็กมาใช้งาน เมื่อได้วัสดุที่ต้องการแล้วก็นำวัสดุมาผสมคลุกเคล้าให้เข้ากันหากวัสดุแห้งเกินก็รดน้ำแล้วผสมให้เข้ากันอีกครั้งหนึ่งเพื่อให้วัสดุเพาะมีความชื้นเล็กน้อย ตัวอย่างวัสดุผสมสำหรับเพาะเมล็ดพันธุ์สูตรต่างๆ มีดังนี้

สูตรที่ 1 ขุยมะพร้าวร่อน: ทรายหยาบร่อน           อัตราส่วน 2:1

สูตรที่ 2 พีทมอส: ทรายหยาบร่อน                     อัตราส่วน 2:1

สูตรที่ 3 พีทมอส: ขุยมะพร้าวร่อน                     อัตราส่วน 2:1

 

  • 3 ถาดหลุมสำหรับเพาะเมล็ด

ถาดหลุมทำจากพลาสติกพีอีเหมาะสำหรับใช้เพาะเมล็ด และเลี้ยงต้นกล้าไม้ดอกชนิดต่างๆ เช่น แพงพวย ผีเสื้อ ดาวเรือง เป็นต้น ข้อดีของการใช้ถาดหลุมเพาะเมล็ดพันธุ์ คือ ทำให้ต้นกล้าเจริญเติบโตเร็วเนื่่องจากไม่มีการแย่งอาหารกันในแต่ละต้น ระบบรากของต้นดาวเรืองเจริญได้ดี สะดวกในการย้ายปลูก รากของต้นกล้าดาวเรืองขาดน้อยในขั้นตอนการย้ายปลูก และสามารถนำถาดหลุมกลับมาใช้งานใหม่ได้ ขนาดของถาดหลุมที่นิยมใช้เพาะเมล็ดพันธุ์ดาวเรืองได้แก่ ถาด 105 หลุม (ภาพที่ 4) และถาด 200 หลุม ผู้เขียนนิยมใช้ถาดขนาด 105 หลุมในการเพาะดาวเรืองเนื่องจากมีปริมาณวัสดุเพาะต่อหลุมมาก ต้นกล้าจะไม่ค่อยเหี่ยว จำนวนครั้งในการรดน้ำต่อวันน้อยกว่า และต้นกล้าสามารถอยู่ในถาดหลุมได้นานกว่าถาด 200 หลุม แต่ในทางกลับกันในแง่ของผู้ผลิตต้นกล้าจำหน่ายก็จะมีปัญหาเรื่องของการขนส่ง และปัญหาอื่นๆ    

ภาพที่ 4 ถาดหลุมสำหรับเพาะเมล็ดพันธุ์ขนาด 105 หลุม (ขนาดถาดกว้าง 28 ซม. ยาว 54 ซม.)

 4 โรงเรือนสำหรับผลิตต้นกล้า

โรงเรือนเพาะเมล็ดพันธุ์ ต้องเป็นโรงเรือนที่สามารถป้องกันฝนได้และแสงสามารถส่องผ่านลงมาได้ หลังคาโรงเรือนที่ใช้ในปัจจุบันได้แก่หลังคาพลาสติก (ภาพที่ 5) หรือหลังคาโพลี่คาร์บอเนต เพื่อป้องกันความเสียหายของต้นกล้าที่อาจถูกฝนกระแทกจนใบช้ำ และทำให้วัสดุเพาะแฉะเกินไปซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นปัจจัยที่เอื้อต่อการเกิดโรคของต้นกล้าดาวเรือง นอกจากนี้ควรมีชั้นวางต้นกล้าโดยยกสูงจากพื้นประมาณ 70 เซนติเมตร ทั้งนี้เพื่อความสะดวกในการทำงาน และป้องกันสัตว์และแมลงต่างๆ ที่จะเข้ามาทำลายต้นกล้า เช่น จิ้งหรีด หอยทาก เป็นต้น นอกจากนี้บริเวณโรงเรือนเพาะเมล็ดพันธุ์ควรปราศจากหนูซึ่งเป็นศัตรูสำคัญที่จะมากัดกินเมล็ดพันธุ์ดาวเรือง   

ภาพที่ 5 ตัวอย่างโรงเรือนหลังคาพลาสติกที่ใช้เพาะเมล็ดพันธุ์ดาวเรือง

 

  • 5 วิธีการเพาะเมล็ดดาวเรือง

การเพาะเมล็ดดาวเรืองที่นิยมมี 2 วิธี 1) เพาะเมล็ดในตะกร้าพลาสติก ขนาด 29 x 36 เซนติเมตร หรือใหญ่กว่านี้ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจำนวนเมล็ดที่ใช้เพาะ แล้วตัดกระดาษหนังสือพิมพ์กรุรอบตะกร้าโดยตัดกระดาษให้พอดีกับขอบตะกร้าเพื่อป้องกันวัสดุเพาะร่วงแล้วนำวัสดุเพาะใส่ตะกร้าประมาณ ¾  ของความสูงตะกร้า ใช้ไม้บรรทัดเกลี่ยผิววัสดุให้เรียบ ทำร่องรูปตัววีลึกประมาณ 1 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างร่องประมาณ 3 เซนติเมตร หยอดเมล็ดดาวเรืองลงในร่องอย่าให้แน่นเกินไปแล้วกลบเมล็ดหนาประมาณ 0.4 เซนติเมตร ยกตะกร้าเข้าโรงเรือนป้องกันฝน ดูแลรดน้ำวันละ 1-2 ครั้ง เพื่อให้วัสดุเพาะมีความชื้นเพียงพอ (ภาพที่ 6) เมื่อต้นกล้าอายุ 6-7 วัน (มีใบเลี้ยง 2 ใบ) จึงย้ายต้นกล้าลงถาดหลุมต่อไป หรือวิธีที่ 2) เพาะเมล็ดลงในถาดหลุมโดยตรง (ภาพที่ 7) ซึ่งวิธีนี้ก็จะช่วยลดขั้นตอนการย้ายต้นกล้าลงได้แต่ต้นกล้าที่ขึ้นในถาดหลุมอาจไม่ครบเต็มจำนวนทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเปอร์เซ็นต์การงอกของเมล็ดพันธุ์ ส่วนวัสดุเพาะที่ใช้ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเลือกใช้สูตรไหน ในที่นี้ผู้เขียนใช้พีทมอสเป็นวัสดุเพาะเมล็ดดาวเรือง วิธีการเพาะให้บีบพีทมอสที่เป็นก้อนให้มีขนาดเล็ก ถ้าพีทมอสแห้งให้รดน้ำและผสมคลุกเคล้าให้พีทมอสมีความชื้นเล็กน้อยแล้วนำมาใส่ในถาดหลุมจนเต็มถาด หลังจากนั้นเกลี่ยพีทมอสส่วนเกินออกแล้วนำเมล็ดดาวเรืองมาวางเรียงในช่องของถาดหลุมในแต่ละช่องและใช้ดินสอที่ยังไม่ได้เหลาหรือปากกาซึ่งมีหน้าตัดเรียบ เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.5 เซนติเมตร กดเมล็ดดาวเรืองลงไปประมาณ 0.4 เซนติเมตร และใช้พีทมอสในหลุมกลบเมล็ดบางๆ (หากเพาะเมล็ดลึกเกินจะทำให้ต้นกล้างอกช้า) เมื่อทำจนครบก็นำถาดเพาะไปวางเรียงในโรงเรือนที่ป้องกันฝนได้และใช้บัวฝอยรดน้ำให้วัสดุเพาะมีความชื้นเพียงพอแต่อย่าให้แฉะเพราะอาจทำให้เมล็ดและต้นกล้าเน่าได้

ภาพที่ 6 การเตรียมตะกร้าเพาะเมล็ด (ภาพซ้าย) และต้นกล้าดาวเรืองพันธุ์กาลอร์ อายุ 7 วัน (ภาพขวา) 

 

ภาพที่ 7 ต้นกล้าดาวเรืองพันธุ์ซุปเปอร์เยลโลอายุ 8 วันหลังจากเพาะเมล็ดในถาดหลุม

  • 6 การรดน้ำต้นกล้า

การรดน้ำใช้บัวฝอยขนาด 3 ลิตร หรือถ้าผลิตต้นกล้าจำนวนมากก็สามารถติดตั้งระบบให้น้ำแบบมินิสปริงเกลอร์เพื่อรดน้ำให้แก่ต้นกล้าดาวเรือง การรดน้ำมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับขนาดของต้นกล้าและสภาพอากาศ ในสัปดาห์แรกต้นกล้ายังเล็กอยู่มีความต้องการน้ำน้อยการรดน้ำเพียงแค่ให้วัสดุเพาะมีความชื้นเล็กน้อยก็พอ หรือในกรณีที่ความชื้นในบรรยากาศสูงประกอบกับพีทมอสยังมีความชื้นอยู่เราก็ไม่จำเป็นต้องรดน้ำในวันดังกล่าว เมื่อต้นกล้าโตขึ้นมีใบจริงมากขึ้นความต้องการน้ำก็จะมากตามไปด้วย โดยปกติจะรดน้ำวันละ 1-2 ครั้งโดยดูความชื้นของวัสดุเพาะเป็นเกณฑ์ และไม่ควรปล่อยให้วัสดุเพาะแห้งเกินไปเพราะจะทำให้ต้นกล้าเหี่ยวและชะงักการเจริญเติบโต

2.7 การให้ปุ๋ยแก่ต้นกล้าดาวเรือง

ในช่วงแรกของการเพาะเมล็ดดาวเรือง (อายุ 0-7 วัน) ถ้าใช้พีทมอสเป็นวัสดุเพาะไม่จำเป็นต้องให้ปุ๋ยแก่ต้นกล้าเนื่องจากในพีทมอสมีธาตุอาหารเพียงพอต่อการเจริญเติบโตของต้นกล้าในระยะนี้ และเมื่อต้นกล้าอายุระหว่าง 8 - 20 วัน ให้ใช้ปุ๋ยเกร็ดละลายน้ำสูตร 20-20-20 อัตรา 10 กรัม และธาตุอาหารรองเช่น ซิลิโคเทรซ หรือ เทรซ-เอสพี อัตรา 3 กรัม/ น้ำ 20 ลิตร รดให้แก่ต้นกล้าดาวเรือง 3 ครั้ง/ สัปดาห์ โดยใช้สารละลายปุ๋ยที่เจือจางรดแทนน้ำเปล่าในวันดังกล่าววันละ 1 ครั้ง

  1. วิธีการปลูกและการดูแลรักษาดาวเรืองประดับ

            3.1 วัสดุปลูก

คุณสมบัติของวัสดุปลูกที่เหมาะสมสำหรับปลูกดาวเรืองและไม้ดอกกระถางชนิดอื่นๆ                   1) น้ำหนักเบาพอสมควรเพื่อสะดวกในการเคลื่อนย้ายแต่ต้องไม่เบาเกินจนต้นดาวเรืองล้มได้ง่าย 2) วัสดุปลูกมีลักษณะโปร่งสามารถระบายน้ำได้ ถ่ายเทอากาศได้ดี และสามารถดูดซับน้ำไว้ได้ 3) วัสดุต้องสะอาดปราศจากโรคและแมลงตลอดจนเมล็ดวัชพืชต่างๆ 4) มีธาตุอาหารที่ต้นดาวเรืองสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ 5) มีค่าความเป็นกรด-ด่าง อยู่ในช่วง 5.8-6.5 6) หาซื้อได้ง่าย และมีราคาถูก ตัวอย่างสูตรวัสดุปลูกดาวเรืองและไม้ดอกกระถางชนิดต่างๆ มีดังนี้

สูตรที่ 1 ดินร่วน: ขุยมะพร้าว: แกลบดิบ: ถ่านแกลบ: ปุ๋ยหมัก อัตราส่วน 1:1:1:0.5:0.5 โดยปริมาตร

สูตรที่ 2 ทราย: ขุยมะพร้าว: แกลบดิบ: ปุ๋ยคอกเก่า อัตราส่วน 1:2:2:0.5 โดยปริมาตร

สูตรที่ 3 ดินร่วน: ขุยมะพร้าว: แกลบดิบ: ปุ๋ยคอกเก่า อัตราส่วน 1:2:2:0.5 โดยปริมาตร

 

            ในขั้นตอนการผสมวัสดุปลูกควรใส่โดโลไมท์ หรือปูนขาวประมาณ 0.5- 1 กก. ต่อวัสดุปลูก 1 ลูกบาศก์เมตร เพื่อปรับค่าความเป็นกรดของวัสดุปลูกให้มีค่าอยู่ในช่วง 5.8-6.5 การผสมวัสดุปลูกนิยมใช้เครื่องผสมซึ่งจะช่วยทำให้ประหยัดเวลาและแรงงาน แต่หากไม่มีเครื่องผสมก็ใช้แรงงานคนในการผสมคลุกเคล้าวัสดุชนิดต่างๆ ให้เข้ากัน จากประสบการณ์ของผู้เขียนพบว่าหากใช้ดินเป็นวัสดุปลูกและในดินนั้นมีเชื้อราฟิวซาเรี่ยม (Fusarium sp.) ก็จะทำให้เกิดโรคแก่ต้นดาวเรืองได้ (ภาพที่ 15) ดังนั้นก่อนนำดินมาใช้ควรส่งตัวอย่างดินมาวิเคราะห์เพื่อหาเชื้อสาเหตุของโรคก่อน หรือถ้ามีเวลาก็นำดินนั้นมาผสมวัสดุปลูกและทดลองปลูกต้นดาวเรืองดูก่อนว่ามีปัญหาหรือไม่

            3.2 ภาชนะใส่วัสดุปลูก

การปลูกดาวเรืองเพื่อใช้ตั้งประดับภาชนะที่ใช้สำหรับปลูกได้แก่ กระถางขนาด 6 นิ้ว และ 8 นิ้ว แต่ถ้าต้องการลดต้นทุนการผลิตก็ใช้ถุงชำขนาด 4x9 นิ้ว หรือ 5x10 นิ้ว (น้ำหนัก 1 กิโลกรัม มีถุงประมาณ 120 ถุงและ 100 ถุง/ กก. ตามลำดับ) ทั้งนี้เนื่องจากถุงชำมีราคาถูกกว่ากระถางพลาสติกมาก ปัจจุบันถุงชำราคา 50 บาท/ กก. ส่วนการเลือกใช้ถุงขนาดไหนนั้นขึ้นอยู่กับพันธุ์ดาวเรืองที่เราปลูกว่ามีทรงพุ่มเล็กหรือใหญ่ ในกรณีที่ปลูกดาวเรืองพันธุ์สยามเยลโล พันธุ์ซุปเปอร์โกลด์ และพันธุ์วีนัสสีเหลือง เราควรใช้ถุงขนาด 5x10 นิ้ว  

3.3 การย้ายปลูกต้นกล้าดาวเรือง

การย้ายปลูกดาวเรืองควรย้ายปลูกเมื่อต้นกล้าอายุประมาณ 18-20 วันหลังจากเพาะเมล็ด หรือมีใบจริง 3 คู่ใบ (ภาพที่ 8) หากย้ายปลูกช้าเกินไปจะทำให้ต้นดาวเรืองยืด ช่วงระยะเวลาที่เหมาะสมในการย้ายปลูกคือช่วงเย็นเพื่อลดการสูญเสียน้ำของต้นกล้า และทำให้ต้นกล้าตั้งตัวได้เร็วภายหลังการย้ายปลูก วิธีการย้ายปลูกให้นำวัสดุปลูกที่เตรียมไว้ใส่ในถุงชำขนาด 4x9 นิ้ว หรือ 5x10 นิ้ว จนเกือบเต็มถุง แล้วทำหลุมปลูกตรงกลางหลังจากนั้นนำต้นกล้าลงปลูกในถุงๆ ละ 1 ต้น โดยปลูกและกลบดินให้ต่ำกว่าใบเลี้ยงเล็กน้อย (ภาพที่ 9) หากปลูกต้นดาวเรืองให้เสมอกับวัสดุเพาะเดิมต้นจะอ่อนและล้มได้ง่าย ข้อดีของดาวเรืองคือต้นดาวเรืองสามารถออกรากบริเวณโคนต้นได้ แต่ทั้งนี้ทุกขั้นตอนของการทำงานต้องทำให้เบามืออย่าทำให้ต้นกล้าช้ำ และหลังจากย้ายปลูกแล้วต้องรดน้ำให้แก่ต้นดาวเรืองเสมอ

การจัดเรียงกระถางหรือถุงชำเป็นเรื่องสำคัญสำหรับการปลูกดาวเรืองและไม้ดอกกระถางอื่นๆ เพราะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ดาวเรืองมีทรงพุ่มต้นที่สวยงาม โดยปกติแล้วการเรียงกระถางให้มีระยะห่างระหว่างต้น และระยะห่างระหว่างแถวไม่น้อยกว่าขนาดทรงพุ่มของต้นดาวเรือง (ภาพที่ 10) ซึ่งในแต่ละพันธุ์จะมีขนาดทรงพุ่มเล็กหรือใหญ่ไม่เท่ากัน แต่ทั้งนี้ต้องให้ต้นดาวเรืองได้รับแสงรอบทรงพุ่มหากเรียงต้นชิดกันจะทำให้ต้นยืดสูงผิดปกติและเมื่อเคลื่อนย้ายต้นไปตั้งประดับจะทำให้กิ่งฉีกและต้นหักได้ง่าย

ภาพที่ 8 ต้นกล้าดาวเรืองพันธุ์ซุปเปอร์เยลโลอายุ 18 วัน หลังจากเพาะเมล็ด

ภาพที่ 9 การเตรียมหลุมปลูกและการย้ายปลูกต้นดาวเรืองลงถุงชำ

ภาพที่ 10 การเรียงถุงปลูกดาวเรืองให้มีระยะห่างระหว่างต้น และระยะห่างระหว่างแถวที่เหมาะสม

3.4 การเด็ดยอดต้นดาวเรือง
            วัตถุประสงค์ของการเด็ดยอดดาวเรืองเพื่อบังคับให้ต้นดาวเรืองแตกตาข้างใหม่ และช่วยให้ตาข้างมีการเจริญเติบโตได้ดี ทั้งนี้เนื่องจากต้นดาวเรืองถ้ายังมียอดอยู่การแตกตาข้างและการเจริญเติบโตช้าเนื่องจากตายอดเป็นแหล่งสร้างฮอร์โมนออกซิน (Auxin) และส่งฮอร์โมนออกซินลงมาตามกิ่งเพื่อยับยั้งการเจริญของตาข้าง แต่เมื่อเด็ดยอดออกจะทำให้ปริมาณของออกซินที่ตาข้างลดลงและกิ่งสามารถเจริญออกมาเป็นยอดใหม่ได้ การเด็ดยอดดาวเรืองนิยมไว้ใบจริง 3 หรือ 4 คู่ใบ ในที่นี้ผู้เขียนทำการเด็ดยอดเมื่อต้นดาวเรืองมีใบ 4 คู่ และมียอดอ่อน 1 ยอด (อายุประมาณ 25 วัน) ให้เด็ดยอดอ่อนออกโดยใช้มือข้างหนึ่งจับตรงคู่ใบที่ 4 เบาๆ และโน้มยอดอ่อนหรือใบคู่ที่ 5 ออก (ภาพที่ 11) การเด็ดยอดควรทำในช่วงเช้าเพราะจะทำให้ยอดอ่อนหลุดออกมาได้ง่าย การเด็ดยอดจะทำให้ต้นดาวเรืองแตกตาข้าง 8 ยอด และมีทรงพุ่มต้นที่สวยงาม

ภาพที่ 11 ต้นดาวเรืองอายุ 25 วัน (ภาพซ้าย) การเด็ดยอดดาวเรืองโดยเหลือใบไว้ 4 คู่ใบ (ภาพขวา)

3.5 การให้ปุ๋ยดาวเรืองประดับที่ปลูกในกระถาง

3.5.1 ต้นดาวเรืองอายุ 21-30 วัน เป็นระยะที่ปลูกในกระถางควรใช้ปุ๋ยเกล็ดละลายน้ำสูตร 20-20-20 อัตรา 1.5 กรัม/ น้ำ 1 ลิตร (150 กรัม/ น้ำ 100 ลิตร) รดที่โคนต้นๆ ละประมาณ 150 ซีซี สัปดาห์ละ 2 ครั้ง โดยหลังจากรดปุ๋ยแล้วปุ๋ยนั้นต้องไม่ไหลออกก้นกระถางหรือก้นถุงถ้ามีสารละลายปุ๋ยไหลออกก้นกระถางแสดงว่าเรารดปุ๋ยมากเกิน (สามารถใช้ปุ๋ยเคมีชนิดเม็ดสูตร 16-16-16 แทนปุ๋ยเกร็ดได้)

3.5.2 ต้นดาวเรืองอายุ 31-70 วัน ให้ใช้ปุ๋ยเกล็ดละลายน้ำสูตร 20-20-20 อัตรา 3 กรัม/ น้ำ 1 ลิตร (300 กรัม/ น้ำ 100 ลิตร) รดปุ๋ยลงบนวัสดุปลูกประมาณ 200 ซีซี/ ต้น สัปดาห์ละ 2 ครั้ง ก็จะทำให้ต้นดาวเรืองเจริญเติบโตได้ดี (ภาพที่ 12-13) แต่หากใช้ปุ๋ย 1 กรัม/ น้ำ 1 ลิตร จะทำให้ต้นดาวเรืองมีทรงพุ่มเล็กเนื่องจากอาหารที่ได้รับไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโต นอกจากนี้เกษตรกรสามารถใช้ปุ๋ยเคมีชนิดเม็ดสูตร 16-16-16 นำมาประยุกต์ใช้รดต้นดาวเรืองได้เช่นกันโดยใช้ปุ๋ยเคมีอัตรา 3.0 กรัม นำมาละลายน้ำ 1 ลิตร (300 กรัม/ น้ำ 100 ลิตร) รดให้แก่ต้นดาวเรืองประมาณ 200 ซีซี/ ต้น สัปดาห์ละ 2 ครั้ง โดยรดแทนน้ำเปล่าในวันนั้นๆ จากการทดลองนำสารละลายปุ๋ยเคมีชนิดเม็ดดังกล่าวมาใช้รดต้นดาวเรืองพบว่าต้นดาวเรืองมีการเจริญเติบโตได้ดีเช่นกัน (ภาพที่ 14) และช่วยลดต้นทุนการผลิตลงได้เนื่องจากปุ๋ยเคมีชนิดเม็ดมีราคาถูกกว่าปุ๋ยเกล็ดมาก (ปุ๋ยเม็ด 19 บาท/ กก. ปุ๋ยเกร็ด 85 บาท/ กก.)  แต่อย่างไรก็ตามการใช้ปุ๋ยเคมีชนิดเม็ดต้องใช้ด้วยความระมัดระวังหากใช้มากเกินจะเกิดผลกระทบกับต้นดาวเรืองได้ และไม่เหมาะที่จำนำมาใช้ในรูปแบบการให้ปุ๋ยไปกับระบบน้ำเพราะจะทำให้หัวน้ำหยดตันได้

3.5.3 เนื่องจากวัสดุปลูกที่ใช้มีปริมาณธาตุอาหารไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของต้นดาวเรืองเราจึงจำเป็นต้องพ่นธาตุอาหารรองและธาตุอาหารเสริมที่มีส่วนประกอบของธาตุ แคลเซียม แมกนีเซียม เหล็ก แมงกานีส สังกะสี โบรอน และธาตุอื่นๆ เสริมให้ทางใบสัปดาห์ละครั้ง ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่มีจำหน่ายในท้องตลาด เช่น ซิลิโคเทรซ เทรซ-เอสพี เป็นต้น อัตราที่ใช้ 3-5 กรัม/ น้ำ 20 ลิตร หรือตามคำแนะนำของบริษัทผู้ผลิต

 

ภาพที่ 12 เปรียบเทียบต้นดาวเรืองพันธุ์กาลอร์ที่ได้รับสารละลายปุ๋ยผสมสูตร 20-10-20 ที่อัตรา 1 2 และ 3 กรัม/น้ำ 1 ลิตร สัปดาห์ละ 2 ครั้ง

 

ภาพที่ 13 การปลูกดาวเรืองพันธุ์กาลอร์ลงถุงชำขนาด 5x10 นิ้ว และให้ปุ๋ยเกล็ดละลายน้ำสูตร 20-20-20 อัตรา 200-300 กรัม/ น้ำ 100 ลิตร ณ ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ภาพที่ 14 เปรียบเทียบต้นดาวเรืองพันธุ์กาลอร์ที่ได้รับสารละลายปุ๋ยเคมีชนิดเม็ดสูตร 16-16-16 ที่อัตรา 1.25 2.50 และ 3.75 กรัม/น้ำ 1 ลิตร สัปดาห์ละ 2 ครั้ง

  

3.6 โรคและแมลงศัตรูที่สำคัญของดาวเรือง

3.6.1 โรคเหี่ยวที่เกิดจากเชื้อราฟิวซาเรียม (Fusarium sp.)

ต้นดาวเรืองที่เป็นโรคจะแสดงอาการดังนี้ ต้นแคระแกร็น เกิดแผลสีน้ำตาลบริเวณโคนต้น หรือบริเวณกิ่งทำให้ต้นดาวเรืองไม่แข็งแรงกิ่งพับและหักได้ง่าย เมื่อผ่าลำต้นดูจะพบว่าท่อน้ำและท่ออาหารถูกทำลายและมีสีน้ำตาลเข้ม (ภาพที่ 15) การแพร่ระบาดของโรคเหี่ยวมักพบการระบาดในดินที่มีสภาพเป็นกรด อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการแพร่ระบาดของโรคอยู่ในช่วง 27-32 องศาเซลเซียส สำหรับการป้องกันให้ใช้วัสดุปลูกที่สะอาดและปราศจากเชื้อฟิวซาเรียม และกำจัดต้นดาวเรืองที่เป็นโรคทิ้ง ส่วนสารเคมีที่ใช้ป้องกันและกำจัดโรคได้แก่ เทอราคลอร์ เชื้อราไตรโคเดอร์มา เป็นต้น

ภาพที่ 15 เปรียบเทียบต้นดาวเรืองปกติ (ต้นซ้าย) กับต้นที่เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อราฟิวซาเรียม (ภาพซ้ายต้นขวามือ) และลักษณะของลำต้นดาวเรืองปกติกับต้นดาวเรืองที่เป็นโรค (ภาพขวามือ)

3.6.2  เพลี้ยไฟ

เพลี้ยไฟเป็นแมลงจำพวกปากดูดที่มีขนาดเล็ก ลำตัวยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร ตัวอ่อนมีสีเหลือง ตัวแก่มีสีน้ำตาลปนแดง ชอบอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม อายุของเพลี้ยไฟจากไข่จนถึงตัวเต็มวัยมีอายุ 14-23 วัน เพลี้ยไฟจะดูดกินน้ำเลี้ยงบริเวณใต้ใบและยอดอ่อนของต้นดาวเรือง ทำให้ยอดและใบอ่อนหงิกงอไม่เจริญเติบโต ด้านใต้ใบบริเวณที่เพลี้ยไฟเข้าทำลายจะเกิดเป็นรอยด้านสีน้ำตาล เพลี้ยไฟระบาดมากในช่วงฤดูร้อนที่มีสภาพอากาศแห้งแล้ง

การป้องกันและกำจัดให้เปิดน้ำด้วยระบบสปริงเกลอร์ในแปลงปลูกดาวเรือง หรือใช้น้ำรดให้ต้นดาวเรืองเปียกจะช่วยลดการระบาดของเพลี้ยไฟลงได้ และใช้สารเคมีพวก คาร์โบซัลแฟน  อะบาเม็กติน  อิมิดาคลอพริด อย่างใดอย่างหนึ่งพ่นในช่วงที่เพลี้ยไฟระบาดสัปดาห์ละครั้ง

 

3.6.3 แมลงวันหนอนชอนใบ

แมลงวันหนอนชอนใบมีลำตัวยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร ตัวมีสีดำ มีแต้มสีเหลืองที่หน้าและข้างอก ปีกใส การเข้าทำลายของแมลงเกิดจากตัวหนอนที่ฟักออกจากไข่เข้าชอนไชกินน้ำเลี้ยงอยู่ใต้ผิวใบ ทำให้เกิดเป็นรอยทางคดเคี้ยวบนใบ ส่งผลให้การสังเคราะห์แสงของพืชลดลง และเชื้อโรคพืชก็จะเข้าสู่ต้นพืชทางบาดแผลดังกล่าว

การป้องกันและกำจัดให้ใช้กับดักกาวเพื่อล่อให้แมลงวันหนอนชอนใบมาติด และใช้สารเคมีพวกอะบาเม็กติน  หรือฟิโปรนิล อย่างใดอย่างหนึ่งพ่นที่ต้นดาวเรืองในช่วงเช้าเวลา 7.00-9.00 น. สัปดาห์ละครั้ง

 

  1. สรุปการปลูกดาวเรืองประดับ

            การปลูกดาวเรืองประดับนิยมใช้ดาวเรืองอเมริกัน เช่น พันธุ์เหลืองเชียงใหม่ พันธุ์ซุปเปอร์เยลโล และพันธุ์กาลอร์ เป็นต้น การเพาะกล้าดาวเรืองควรเพาะเมล็ดในถาดหลุมโดยใช้พีทมอสเป็นวัสดุเพาะ และเมื่อต้นกล้าอายุ 20 วัน จึงย้ายปลูกลงถุงชำขนาด 4x9 นิ้ว หรือ 5x10 นิ้ว ดินผสมที่ใช้ได้แก่ ดินร่วน: ขุยมะพร้าว: แกลบดิบ: ปุ๋ยคอกเก่า อัตราส่วน 1:2:2:0.5 โดยปริมาตร เมื่อต้นกล้าอายุประมาณ 25 วัน จึงเด็ดยอดดาวเรืองให้เหลือใบ 4 คู่ใบ การให้ปุ๋ยต้นดาวเรืองที่อายุ 21-70 วัน ควรใช้ปุ๋ยเกล็ดละลายน้ำสูตร 20-20-20 อัตรา 150-300 กรัม/ น้ำ 100 ลิตร รดต้นดาวเรืองประมาณ 150-200 ซีซี/ ต้น สัปดาห์ละ 2 ครั้ง หรือใช้ปุ๋ยเคมีชนิดเม็ดสูตร 16-16-16 อัตรา 150-300 กรัม/ น้ำ 100 ลิตร รดให้แก่ต้นดาวเรืองประมาณ 200 ซีซี/ ต้น สัปดาห์ละ 2 ครั้ง ส่วนการป้องกันโรคและแมลงควรพ่นสารเคมีป้องกันสัปดาห์ละครั้ง ต้นดาวเรืองจะเริ่มออกดอกเมื่ออายุประมาณ 55-65 วันหลังจากเพาะเมล็ด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพันธุ์ การดูแลรักษา และฤดูกาลที่ปลูก นอกจากนี้ผู้เขียนได้ทำตารางแผนการปลูกและการดูแลรักษาดาวเรืองกระถางเพื่อใช้เป็นแนวทางในการปลูกดาวเรืองเพื่อใช้ตั้งประดับในช่วงพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในระหว่างวันที่ 25-29 ตุลาคม 2560 ดังในตารางที่ 2 อย่างไรก็ตามหากมีข้อสงสัยเรื่องการปลูกดาวเรืองกระถางสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกับผู้เขียนได้ที่ ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม                  e-mail: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

  

ตารางที่ 2 แผนการปลูกและดูแลรักษาดาวเรืองอเมริกัน (Tagetes erecta) พันธุ์ซุปเปอร์เยลโลสำหรับปลูกเป็นไม้ดอกประดับในกระถาง

เอกสารอ้างอิง

บริษัท เอกะ อะโกร จำกัด. 2560. คู่มือเทคนิคการปลูกดาวเรืองตัดดอก. แหล่งที่มา: http://www.aga-agro.com, 1 มิถุนายน 2560.

บริษัท เอ. เอฟ. เอ็ม. ฟลาวเวอร์ ซีดส์ (ไทยแลนด์) จำกัด. 2009. AFM Flower Seeds 2009-2010. ม.ป.ท.

พีรเดช  ทองอำไพ. 2537. ฮอร์โมนพืชและสารสังเคราะห์ แนวทางการใช้ประโยชน์ในประเทศไทย. บริษัท วิชัยการพิมพ์, กรุงเทพฯ.

ภาณุพงศ์  ศรีอ่อน. 2550. ผลของระดับความเข้มข้นของปุ๋ยเคมีต่อการเจริญเติบโตและการออกดอกของดาวเรืองพันธุ์กาลอร์สำหรับปลูกเป็นไม้กระถาง. วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 38 (6): 545-552

สมเพียร  เกษมทรัพย์. 2528. การปลูกไม้ดอก. ห้างหุ้นส่วนจำกัด ฟันนี่พับบลิสซิ่ง, กรุงเทพฯ.

ศูนย์อารักขาพืช มูลนิธิโครงการหลวง. 2548. คู่มือศัตรูไม้ดอกและการป้องกันกำจัด. บริษัท ทรีโอแอดเวอร์ไทซิ่งแอนด์มีเดีย จำกัด, เชียงใหม่.

Dole, J. M. and H. F. Wilkins. 1999. Floriculture Principles and Species. Prentice-Hall, Inc., New Jersey.