ความหลากหลายของสายพันธุ์พืชตระกูลส้ม

สามารถ เศรษฐวิทยา สุขะวัฒน์ ทองเหลี่ยว และ รศ.ดร.รวี เสรฐภักดี
 ศูนย์วิจัยและพัฒนาไม้ผลเขตร้อน ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน นครปฐม 73140 โทร. 034-351-934 โทรสาร 034-351-934  

                เมื่อพูดถึงส้ม คนทั่วไปมักนึกถึงผลไม้ที่มีเปลือกสีเหลือง-ส้ม ผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว เนื้อมีลักษณะเป็นกลีบชัดเจน แต่ความหมายของคำว่า  ส้ม  (Citrus)  นั้นครอบคลุมพืชที่อยู่ในสกุลส้ม  (genus  Citrus) และพืชอื่นๆ ที่ใกล้เคียง  (citrus   relatives) ทั้ง  subfamily  Aurantioideae ของวงศ์ส้ม (Family  Rutaceae) ทั้งหมดด้วย  พืชใกล้เคียงที่พบมากในประเทศไทย  เช่น ต้นแก้ว (Murraya  paniculata)  มะไฟจีน (Clausena  lansium) มะนาวเทศ  (Triphasia trifolia)  กระแจะ(Hesperethusa   crenulata) มะนาวผี (Atalantia  monophylla) มะตูม (Aegle  marmalos) มะขวิด (Feronia   limonia) และมะสัง (Feroniella   lucida)  เป็นต้น  นอกจากนี้ยังมีส้มในสกุลอื่นๆ ที่มีบทบาทที่สำคัญต่ออุตสาหกรรมการผลิตส้มของโลกอีกด้วย

                ส้มมีถิ่นกำเนิดอยู่ในเขตติดต่อระหว่างพื้นที่ของประเทศจีนตอนใต้ อินเดีย คาบสมุทรมะลายู ซึ่งรวมถึงประเทศไทยทั้งหมดด้วย จากเอกสารรายงานของ มองซิเออร์ เดอลาลูแบร์ (Monsieur  De  La Loubere) ที่เขียนไว้ในหนังสือ A New Historical Relation with the King of Siam ที่ได้เข้ามาในประเทศไทยในระหว่างวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2230 (ค.ศ. 1687) ถึงวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2231 (ค.ศ. 1688) หรือมากกว่า300 ปีที่ผ่านมา ในเอกสารนี้ได้กล่าวถึงพืชหลายชนิดรวมทั้ง ส้มโอ  (Soum-O หรือ Pompelmousees) ส้มแก้ว (Soum –Keou) และมะกรูด  (Ma-Crout)  ส่วนกลุ่มส้มเปลือกล่อน คาดว่าได้มีการนำเข้ามาในประเทศไทยเมื่อกว่า  100  ปีที่ผ่านมาพร้อมกับชาวจีนที่อพยพ และได้มีการปลูกและขยายพันธุ์จนได้เป็น  “ส้มเขียวหวาน”  ในที่สุด

                ชนิดและพันธุ์ส้มในสกุลส้ม   (Citrus)  นั้นหากจะจัดแบ่งตามลักษณะความสำคัญทางพืชสวนแล้วสามารถแบ่งแยกได้เป็น 4  กลุ่ม คือ 1. กลุ่มส้มเกลี้ยง (The Orange Group)  2. กลุ่มส้มเปลือกล่อน (The Mandarins)  3. กลุ่มส้มโอและเกรฟฟรุต (The Pummelos and Grapefruits) และ 4. กลุ่มส้มที่มีรสเปรี้ยวจัด (The Common Acid Members) ซึ่งแต่ละกลุ่มมีความสำคัญแตกต่างกันไปตามความต้องการของกลุ่มชน วัฒนธรรม รวมทั้งการใช้ประโยชน์ของส้มชนิดนั้นๆ ด้วย  โดยสามารถสรุปการแบ่งแบบย่อได้ดังนี้

  1. กลุ่มส้มเกลี้ยง (The Orange Group) ในกลุ่มนี้สามารถแบ่งออกได้อีกเป็น 2 กลุ่มย่อยคือ

                                1.1 Sweet Orange: Citrus sinensis [L.] Osbeck จัดเป็นส้มกลุ่มที่มีการปลูกเป็นการค้าปริมาณมากที่สุดในโลก ส้มในกลุ่มนี้มีเปลือกค่อนข้างหนาและติดกับเนื้อ (เปลือกไม่ล่อน) เมื่อผลแก่เปลือกมีสีเหลืองถึงส้มสะดุดตา ส้มในประเทศไทยที่จัดอยู่ในกลุ่มนี้คือ ส้มเกลี้ยง และส้มตรา (หรือส้มเช้ง) ส่วนส้มในกลุ่มนี้ที่แพร่หลายในต่างประเทศได้แก่ ส้มวาเลนเซีย (Valencia) เฮมลิน (Hamlin)               

                                ส้มเลือด (Blood or pigmented orange) เป็น sweet orange ที่กลายพันธุ์โดยธรรมชาติ เนื้อมีสีแดงคล้ายเลือดซึ่งเป็นสีของรงควัตถุแอนโธซายานิน (anthocyanin) เช่น พันธุ์ Maltese, Tarocco

                                ส้มสะดือ (Navel orange) เป็นส้มที่มีลักษณะผลเป็นเอกลักษณ์คือรูเปิดกว้างที่ก้นผล ซึ่งน่าจะเป็นที่มาของชื่อส้มสะดือ นอกจากยังมีลักษณะเหมือนมีส้มลูกเล็กอีกลูกติดอยู่บริเวณด้านล่างของผล ประเทศไทยมีการนำเข้าส้มสะดือ เช่น พันธุ์ Washington Navel ส้มสะดือพันธุ์อื่นๆ ซึ่งเป็นที่นิยมในต่างประเทศได้แก่ California Navel และCara Cara

                                1.2 Bitter orange: Citrus aurantium  (Seville orange, sour orange, marmalade orange) เป็นลูกผสมธรรมชาติของส้มโอกับส้มเปลือกล่อน เปลือกใช้สกัดน้ำมันหอมระเหย (essential oil)ใช้ทำแยมผิวส้ม (marmalade) ในประเทศไทย ส้มที่อยู่ในกลุ่มนี้คือ ส้มซ่า ซึ่งผลมีขนาดพอๆ กับมะนาว เปลือกหนาไม่เรียบ ผิวและน้ำของส้มซ่าเป็นส่วนผสมสำคัญของ หมี่กรอบ และปลาแนม ในอดีตส้มชนิดนี้ได้มีการนำมาใช้เป็นต้นตอของกลุ่มส้มเกลี้ยง เนื่องจากมีความทนทานต่อโรคยางไหล แลไฟทอฟธอราได้ดี

  1. กลุ่มส้มเปลือกล่อน (The Mandarins; Citrus reticulata) ส้มในกลุ่มนี้มีลักษณะผลแป้นกว่าส้มเกลี้ยง เปลือกบางกว่า เปลือกล่อนจึงปอกเปลือกเพื่อรับประทานได้ง่าย กลีบส้มแยกออกจากกันได้ง่าย จัดเป็นส้มที่ปลูกมากที่สุดในทวีปเอเซีย แหล่งที่ผลิตสำคัญได้แก่ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน ไต้หวัน ไทย อินเดีย ออสเตรเลีย และย่านเมดิเตอร์เรเนียน ส้มเปลือกล่อนที่สำคัญในต่างประเทศได้แก่ ส้มซัทซูม่า (Satsuma mandarin) ส้มคลีโอพัตรา (Cleopatra mandarin) ส้มผลเล็กนำเข้าจากจีนมีรสหวานจัด ที่รู้จักกันในชื่อ ส้มซาถัง (Shatang mandarin) จัดอยู่ในกลุ่มส้มเปลือกล่อนเช่นกัน สำหรับในประเทศไทย ส้มเปลือกล่อนที่รู้จักกันดีคือ ส้มเขียวหวาน ส้มโชกุนหรือส้มสายน้ำผึ้ง และส้มแก้ว
  2. กลุ่มส้มโอและเกรฟฟรุต (The Pummelos and Grapefruits)

                                ส้มโอ (Citrus maxima) เป็นส้มที่มีขนาดผลใหญ่ที่สุด เชื่อว่ามีถิ่นกำเนิดในประเทศไทยและภูมิภาคใกล้เคียง เปลือกชั้นในหนามีสีขาวลักษณะคล้ายฟองน้ำ มีเยื่อหุ้มกลีบส้มหนา ส้มโออาจแบ่งเป็น 2 กลุ่มย่อยตามสีเนื้อได้แก่

                                ส้มโอเนื้อสีขาว (เหลือง) หรือไม่มีสี ได้แก่ ส้มโอพันธุ์ขาวพวง ขาวแป้น ขาวใหญ่ ขาวน้ำผึ้ง และขาวแตงกวา

                                ส้มโอเนื้อสีแดงหรือเนื้อสีชมพู ได้แก่ ส้มโอพันธุ์ทองดี ท่าข่อย และทับทิมสยาม โดยส้มโอพันธุ์ทองดีเป็นพันธุ์ที่ได้รับความนิยมและเป็นพันธุ์ที่ส่งออกไปจำหน่ายในตลาดต่างประเทศมากที่สุด 

                                เกรฟฟรุต (Citrus paradise) เป็นส้มลูกผสมที่เกิดจากส้มโอกับส้มเกลี้ยง ลักษณะผลคล้ายส้มโอแต่มีขนาดเล็กกว่า บางทีเรียกว่า ส้มโอผลเล็ก ในประเทศไทยยังไม่มีการปลูกเป็นการค้า นำเข้าจากต่างประเทศในรูปผลสด และน้ำเกรฟฟรุต เกรฟฟรุตบนต้นมักติดผลเป็นกลุ่มๆ ดูคล้ายพวงองุ่น (grape) จึงเป็นที่มาของชื่อเกรฟฟรุต สีของเนื้อมีตั้งแต่ ขาว ชมพู ไปจนถึงแดง มีทั้งรสหวาน เปรี้ยว

  1. กลุ่มส้มที่มีรสเปรี้ยวจัด (The Common Acid Members) ในกลุ่มนี้แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มย่อยคือ

                                4.1 ซิตรอน (The Citrons; Citrus medica L.) เป็นส้มผลทรงรี มีเปลือกผลชั้นในหนา และมีเนื้อน้อย ดอกตูมมีสีม่วงแต้ม ในประเทศไทยพบปลูกตามหมู่บ้านชาวเขาทางภาคเหนือ เรียกกันว่า ส้มมะละกอ ซิตรอนที่มีผลลักษณะสะดุดตาคล้ายนิ้วมือ เรียกว่า ส้มมือหรือส้มโอมือ (Buddha’s hand citron; Citrus medica var. sarcodactylis) ผลมีแต่เปลือกไม่มีเนื้อ มีกลิ่นหอม ใช้ทำยาดม และปลูกเป็นไม้ประดับ

                                4.2 เลมอน (The Lemons; Citrus limon) เรียกกันในภาษาไทยว่า มะนาวฝรั่ง หรือ มะนาวนมยาน ผลเลมอนที่ขายในประเทศไทยส่วนใหญ่นำเข้าจากต่างประเทศ ผลมีสีเหลืองสวย ทรงรี มีรสเปรี้ยวและกลิ่นเฉพาะ ใช้บริโภคเป็นเครื่องดื่ม เสริมรสในอาหาร และเป็นส่วนผสมของน้ำยาทำความสะอาด พันธุ์ที่นิยมแพร่หลายเช่น พันธุ์ยูเรก้า และพันธุ์ลิสบอน

                                4.3 มะนาว (The Limes) ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น

                                                4.3.1 มะนาวผลเล็ก (Small-fruited Acid Limes; Citrus aurantifolia) เป็นมะนาวเปลือกบาง น้ำมะนาวมีกลิ่นหอมเฉพาะ เหมาะสำหรับใช้ปรุงอาหารไทย มักอ่อนแอต่อโรคแคงเกอร์ส้ม และโรคไวรัสทริสเตซ่า ได้แก่ มะนาวแป้นต่างๆ มะนาวหนัง มะนาวไข่

                                                4.3.2 มะนาวผลใหญ่ (Large – fruited Acid Limes; Citrus  latifolia  Tan.) ผลมีขนาดใหญ่ และมีความทนโรคมากกว่ามะนาวผลเล็ก ไม่มีเมล็ด  เชื่อว่าเป็นลูกผสมโดยธรรมชาติ  พันธุ์ที่สำคัญได้แก่ มะนาวตาฮิติ  มะนาวด่านเกวียน 

                พืชในสกุลส้ม (Citrus) ที่มีชื่อเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า lime แต่มีชื่อ species ต่างออกไปได้แก่ มะกรูด (Kaffir lime; Citrus hystrix) มะนาวนิ้วมือออสเตรเลีย (Australian finger lime; Citrus australasica) เป็นต้น

                ส้มอีก 2 กลุ่มที่ไม่ได้อยู่ในสกุล Citrus ได้แก่ ส้มกินเปลือกหรือคัมควัท (Kamquats; Fotunella spp.) และส้มสามใบ (trifoliate orange; Poncirus trifoliate) ส้มสามใบนั้นได้มีการนำมาใช้เป็นต้นตอส้มนานมาแล้ว ในปัจจุบันได้มีการผลิตลูกผสมระหว่างส้มสามใบ และส้มเกลี้ยง (sweet orange) ได้เป็นลูกผสมที่เรียกว่า ซิแตรน (citrange) ขึ้น โดยพันธุ์ที่นำมาใช้เป็นต้นตออย่างกว้างขวางและรู้จักกันอย่างดี คือ Troyer และ Carrizo 
                การผลิตส้มชนิดหนึ่งชนิดใดนั้น จำเป็นต้องคำนึงถึงตลาดที่จะสามารถรองรับผลผลิตเป็นหลัก โดยเน้นที่การผลิตส้มที่มีคุณภาพมิใช่ปริมาณเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้ ยังต้องคำนึงถึงความเหมาะสมของพื้นที่ และภูมิอากาศ ความรู้ความสามารถของเกษตรกร และช่องทางของตลาดด้วย