การผลิตมะลินอกฤดู

โดย คุณกาญจน์เจริญ  ศรีอ่อน  นักวิชาการเกษตร ชำนาญการพิเศษ
ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

 มะลิ (Jasmine) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Jasminum sambac Ait. อยู่ในวงศ์ Oleaceae มีถิ่นกำเนิดอยู่ในเขตร้อนและกึ่งร้อน มะลิเป็นไม้ดอกที่ได้รับความนิยมมาอย่างต่อเนื่อง ดอกมะลิมีสีขาว มีกลิ่นหอมนิยมนำมาใช้ร้อยพวงมาลัย ทำดอกไม้แห้ง และสกัดน้ำมันหอมระเหย พื้นที่ปลูกมะลิส่วนใหญ่อยู่ในเขตภาคกลาง ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นครปฐม สมุทรสาคร เพชรบุรี ฯลฯ และเมื่อพิจารณาถึงลักษณะการออกดอกของมะลิ พบว่ามะลิออกดอกบริเวณปลายกิ่งโดยมะลิจะออกดอกมากในช่วงฤดูร้อนและฤดูฝนซึ่งในฤดูร้อนอุณหภูมิของอากาศค่อนข้างสูงมะลิมีการเจริญเติบโตได้ดี (ธวัชชัย, 2545) ในฤดูร้อนมะลิให้ผลผลิตเฉลี่ย 68.0 ลิตร/ ไร่/ วัน ส่วนในฤดูฝนมะลิให้ผลผลิตเฉลี่ย 53.6 ลิตร/ ไร่/ วัน (สุวรรณา, 2542) แต่ในฤดูหนาวหรือในช่วงเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ มักพบปัญหามะลิออกดอกเป็นช่อเล็กๆ และช่อดอกหยุดชะงักการเจริญเติบโตทำให้ดอกแคระแกร็นไม่สมบูรณ์ และมีจำนวนดอกน้อยโดยมะลิให้ผลผลิตเฉลี่ยเพียง 17.1 ลิตร/ ไร่/ วัน (สุวรรณา, 2542) ส่งผลให้ดอกมะลิมีราคาแพง โดยในเดือนมกราคม- กุมภาพันธ์ 2560 ดอกมะลิมีราคาเฉลี่ย 537.1-767.2 บาท/ ลิตร (ภาพที่ 1) และในเดือนมกราคม 2561

ดอกมะลิมีราคาสูงสุด 1500 บาท/ลิตร และราคาต่ำสุด 800 บาท/ ลิตร (ตลาดสี่มุมเมือง, 2561) แต่เกษตรกรไม่สามารถผลิตดอกมะลิออกจำหน่ายในช่วงดังกล่าวให้เพียงพอกับความต้องการของตลาดได้

 

 ภาพที่ 1 ราคาดอกมะลิ ณ ตลาดสี่มุมเมืองในปี พ.ศ. 2559-2561

          สาเหตุที่มะลิให้ผลผลิตน้อยในช่วงฤดูหนาวมาจากการพักตัวของต้นมะลิ การพักตัว (dormancy) หมายถึง สภาวะที่พืชหยุดการเจริญเติบโตชั่วคราวซึ่งตรงกับธรรมชาติของต้นมะลิที่เจริญเติบโตและแตกกิ่งใหม่พร้อมกับการออกดอกได้ดีในช่วงฤดูร้อนและฤดูฝนแต่ในฤดูหนาวมะลิจะหยุดการเจริญเติบโตและแตกยอดใหม่น้อยทำให้การออกดอกน้อยตามไปด้วย โดยสาเหตุของการพักตัวแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ การพักตัวเนื่องจากสภาพแวดล้อมภายนอกไม่เหมาะสม และการพักตัวเนื่องจากปัจจัยภายในพืชเอง ปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่มีความสำคัญในการชักนำให้เกิดการพักตัวคือ อุณหภูมิ และความยาวของวัน (นิตย์, 2542) ปัจจัยภายในพืชที่เกี่ยวข้องกับการพักตัวได้แก่ฮอร์โมนในกลุ่มของสารยับยั้งการเจริญเติบโต (plant growth inhibitors) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ABA (abscisic acid) นับว่าเกี่ยวข้องกับการพักตัวของตามากที่สุด (กฤษณา, 2538) พืชในเขตร้อนบางชนิดมีการพักตัวในช่วงสั้นๆ โดยสังเกตจากการเจริญเติบโตของพืชเมื่อพืชแตกยอดใหม่แล้วจะหยุดการเจริญระยะหนึ่งเพื่อสะสมอาหารก่อนที่จะแตกยอดชุดต่อไป การพักตัวเช่นนี้แตกต่างจากพืชในเขตหนาวเนื่องจากไม่มีการทิ้งใบแต่เป็นการหยุดการเจริญเติบโตเพื่อสะสมอาหารสำหรับการออกดอกหรือการเจริญเติบโตทางกิ่งใบต่อไป ในช่วงที่พืชหยุดการเจริญเติบโตพบว่ามีสารยับยั้งการเจริญเติบโตภายในกิ่ง และมีข้อสังเกตว่าถ้าช่วงของการพักตัวยาวนานพืชก็จะสะสมอาหารมากขึ้น และเมื่อสภาพแวดล้อมเหมาะสมพืชก็จะออกดอกได้มากขึ้น (พีรเดช, 2537)

           การทำลายการพักตัวของพืชแบ่งออกเป็น 2 วิธีคือ 1) การปฏิบัติทางเขตกรรม เช่น การโน้มกิ่ง การตัดยอด 2) การใช้สารเคมี เช่น โพแทสเซียมในเตรท ไทโอยูเรีย และสารควบคุมการเจริญเติบโต (กฤษณา, 2538) และจากการศึกษาการตัดแต่งกิ่งต้นมะลิ พบว่าการตัดแต่งกิ่งมะลิจะช่วยทำให้ผลผลิตมะลิมากกว่าต้นที่ไม่ได้รับการตัดแต่งกิ่ง (บุญมี และคณะ, 2526) การตัดแต่งกิ่งและการเด็ดยอดเป็นการลดการข่มตาข้าง (apical dominance) ทำให้ตาข้างของพืชแตกขึ้นมาใหม่ได้ นอกจากนี้ชาตรี (2539) ได้ทำการศึกษาสารเคมีที่มีคุณสมบัติในการทำลายการพักตัวของพืช 3 ชนิดคือ ไทโอยูเรีย (thiourea) โพแทสเซียมไนเตรท (KNO3) และ 4,6-dinitro-ortho-cresol (DNOC) ต่อการแตกตาและคุณภาพของดอกมะลิ พบว่าการพ่นไทโอยูเรีย ความเข้มข้น 1 เปอร์เซ็นต์ ทำให้มะลิแตกตาได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ภายหลังจากการพ่นสาร 23 วัน แต่การพ่นไทโอยูเรียมีผลทำให้ใบต้นมะลิไหม้และใบร่วงจำนวนมากส่งผลให้ความยาวของกลีบดอกลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับต้นที่ไม่ได้รับสาร การพ่น KNO3 ความเข้มข้น 2.5 เปอร์เซ็นต์ ทำให้มะลิแตกตาได้ 80 เปอร์เซ็นต์ ภายหลังจากการพ่นสาร 33 วัน โดยปุ๋ยชนิดนี้มีคุณสมบัติในการทำลายการพักตัวของตาพืชได้ดี และการพ่น DNOC ความเข้มข้น 0.1 เปอร์เซ็นต์ ทำให้มะลิมีการแตกตาได้ 87.5 เปอร์เซ็นต์ ภายหลังจากการพ่นสาร 33 วัน แต่ต้นมะลิที่ไม่ได้รับสารแตกตาใหม่ได้เพียง 43.7 เปอร์เซ็นต์

 จากการศึกษาวิธีการบังคับให้ต้นมะลิออกดอกในช่วงฤดูหนาวในสภาพแปลงปลูกของผู้เขียน โดยทำการทดลอง ณ ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จ. นครปฐม ซึ่งผู้เขียนได้ปลูกมะลิลาพันธุ์ราษฎร์บูรณะลงในแปลงทดลองโดยมีระยะห่างระหว่างต้น และระยะห่างระหว่างแถว 1x1 เมตร หลังจากนั้นบำรุงรักษาต้นมะลิให้สมบูรณ์และพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดโรคและแมลงตามการระบาด เริ่มทำการทดลองเมื่อต้นมะลิมีอายุประมาณ 8 เดือน ภายหลังจากการย้ายปลูก โดยมีทรีทเมนต์ต่างๆ ดังนี้

ทรีทเมนต์ที่ 1 คอนโทรล (Control) ไม่ตัดแต่งกิ่งและไม่ได้พ่นสาร
ทรีทเมนต์ที่ 2 ตัดแต่งกิ่งมะลิ และพ่นโพแทสเซียมไนเตรท ความเข้มข้น 2.5 %
ทรีทเมนต์ที่ 3 ตัดแต่งกิ่งมะลิร่วมกับการพ่นโพแทสเซียมไนเตรท ความเข้มข้น 2.5 % และให้แสงไฟเพิ่มในตอนกลางคืน (ได้รับแสง 24 ชั่วโมง)
ทรีทเมนต์ที่ 4 ตัดแต่งกิ่งมะลิร่วมกับการพ่นโพแทสเซียมไนเตรท ความเข้มข้น 2.5 % ให้แสงไฟเพิ่มในตอนกลางคืน (ได้รับแสง 24 ชั่วโมง) และพ่นธาตุอาหารทางใบสูตร 20-20-20 ที่ความเข้มข้นของไนโตรเจน 400 มก./ ล. สัปดาห์ละครั้ง
ทรีทเมนต์ที่ 5 ตัดแต่งกิ่งมะลิร่วมกับการพ่นโพแทสเซียมไนเตรท ความเข้มข้น 2.5 % ให้แสงไฟเพิ่มในตอนกลางคืน (ได้รับแสง 24 ชั่วโมง) พ่นธาตุอาหารทางใบสูตร 20-20-20 ที่ความเข้มข้นของไนโตรเจน 400 มก./ ล. ร่วมกับการพ่นสารกระตุ้นการเจริญเติบโต อัตรา 30 มล./ น้ำ 20 ล. สัปดาห์ละครั้ง
ทรีทเมนต์ที่ 6 ตัดแต่งกิ่งมะลิร่วมกับการพ่นโพแทสเซียมไนเตรท ความเข้มข้น 2.5 % และพ่นธาตุอาหารทางใบสูตร 20-20-20 ที่ความเข้มข้นของไนโตรเจน 400 มก./ ล. ร่วมกับการพ่นสารกระตุ้นการเจริญเติบโต อัตรา 30 มล./ น้ำ 20 ล. สัปดาห์ละครั้ง

ในการทดลองทรีทเมนต์ที่ให้แสงไฟ 24 ชั่วโมง เริ่มให้แสงไฟตั้งแต่เวลา 17.30-06.30 น. โดยใช้หลอดไฟขนาด 60 วัตต์ แขวนเหนือทรงพุ่มต้นมะลิ 50 เซนติเมตร ส่วนสารกระตุ้นการเจริญเติบโตที่ใช้มีส่วนประกอบของฮอร์โมนต่างๆ ได้แก่ ออกซิน จิบเบอเรลลิน ไซโตไคนิน และกรดอมิโน ผลการทดลองพบว่า 1) วิธีการเพิ่มผลผลิตดอกมะลิลาในช่วงฤดูหนาวโดยการตัดแต่งกิ่งมะลิร่วมกับการพ่นสารโพแทสเซียมไนเตรทความเข้มข้น 2.5 เปอร์เซ็นต์ ให้แสงไฟเพิ่มในตอนกลางคืน พ่นธาตุอาหารทางใบสูตร 20-20-20 ที่ความเข้มข้นของไนโตรเจน 400 มก./ ล. และพ่นสารกระตุ้นการเจริญเติบโตอัตรา 30 มล./ น้ำ 20 ลิตร สัปดาห์ละครั้ง (ทรีทเมนต์ที่ 5) ให้ผลผลิตมากที่สุด และช่วยเพิ่มจำนวนดอกต่อต้นมากกว่าต้นที่ปล่อยให้มีการออกดอกตามธรรมชาติถึง 93.7 เปอร์เซ็นต์ (ตารางที่ 1) แต่ไม่ทำให้ความกว้างและความยาวของกลีบดอกเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับต้นที่ไม่ได้รับสาร (ตารางที่ 1 และ 2)

2) วิธีการตัดแต่งกิ่งมะลิร่วมกับการพ่นสารโพแทสเซียมไนเตรทความเข้มข้น 2.5 เปอร์เซ็นต์ (ทรีทเมนต์ที่ 2) สามารถกระตุ้นให้ต้นมะลิแตกกิ่งใหม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ และเริ่มเก็บผลผลิตมะลิได้ภายหลังจากการตัดแต่งกิ่ง 30 วัน มีผลผลิตเพิ่มขึ้น 72.4 เปอร์เซ็นต์เมื่อเปรียบเทียบกับต้นที่ไม่ตัดแต่งกิ่ง (ตารางที่ 1) และเมื่อเปรียบเทียบจำนวนดอกต่อต้น และน้ำหนักสดของดอกต่อต้นกับทรีทเมนต์ที่ให้แสงไฟ พ่นธาตุอาหารทางใบ และพ่นสารกระตุ้นการเจริญเติบโต พบว่าจำนวนดอกต่อต้น และน้ำหนักสดของดอกต่อต้นไม่แตกต่างกันทางสถิติ ดังนั้นการเพิ่มผลผลิตดอกมะลิลาในช่วงฤดูหนาวด้วยวิธีการตัดแต่งกิ่งร่วมกับการพ่นสารโพแทสเซียมไนเตรทจึงเป็นวิธีที่สะดวก และไม่ต้องลงทุนเพิ่มในการติดตั้งอุปกรณ์เพื่อให้แสงไฟในตอนกลางคืน ประกอบกับดอกมะลิมีราคาแพงในช่วงระยะเวลาสั้นๆ จึงไม่แนะนำให้ลงทุนติดตั้งอุปกรณ์ให้แสงไฟ (ภาณุพงศ์, 2551)

ตารางที่ 1 ระยะเวลาที่สามารถเก็บดอกมะลิ จำนวนดอกต่อต้น ปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้น และความกว้างของกลีบดอกมะลิ  

ทรีทเมนต์

ระยะเวลาที่สามารถเก็บดอกมะลิ (วัน)

จำนวนดอกต่อต้น(ดอก)

ปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้น(%)

ความกว้างของกลีบดอก(ซม.)

1

2

3

4

5

6

34.8 a1/

21.4 b

20.9 b

21.2 b

21.4 b

21.1 b

107.1 b1/

184.7 a

203.7 a

200.3 a

207.5 a

172.7 a

0.00

72.45

90.19

87.02

93.74

61.25

0.66

0.62

0.64

0.64

0.64

0.63

F-Test

**

**

-

ns

CV (%)

3.4

23.7

-

5.0

**   = มีความแตกต่างกันทางสถิติที่ระดับความเชื่อมั่น 99 %
ns = ไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติที่ระดับความเชื่อมั่น 95 %
1/   = ค่าเฉลี่ยที่ตามหลังด้วยตัวอักษรร่วมในแนวตั้งไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติเมื่อวิเคราะห์แบบ Duncan’s new multiple range test  

ตารางที่ 2 ความยาวของกลีบดอก น้ำหนักสดของดอกต่อต้น และน้ำหนักสดเฉลี่ยต่อดอก

ทรีทเมนต์

ความยาวของกลีบดอก (ซม.)

น้ำหนักสดของดอกต่อต้น (ก.)

น้ำหนักสดเฉลี่ยต่อดอก (มก.)

1

0.97 a1/

18.26 b1/

170.6 a1/

2

0.84 b

26.61 a

144.1 b

3

0.88 b

31.13 a

152.8 b

4

0.86 b

30.85 a

154.1 b

5

0.86 b

31.83 a

153.4 b

6

0.86 b

24.15 ab

139.9 b

F-Test

**

**

**

CV (%)

7.0

28.5

9.9

**   = มีความแตกต่างกันทางสถิติที่ระดับความเชื่อมั่น 99 %
1/   = ค่าเฉลี่ยที่ตามหลังด้วยตัวอักษรร่วมในแนวตั้งไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติเมื่อวิเคราะห์แบบ Duncan’s new multiple range test  

ขั้นตอนการผลิตมะลินอกฤดู

  1. การเตรียมต้นมะลิให้สมบูรณ์
    จากกราฟราคาผลผลิตมะลิในปี 2559-2561 (ภาพที่ 1) ดอกมะลิราคาแพงในช่วงเดือนธันวาคม- กุมภาพันธุ์ ดังนั้นถ้าเราต้องการที่จะผลิตมะลิให้ออกในเดือนใดเราต้องนับย้อนหลังประมาณ 2 เดือนเพื่อเตรียมต้นมะลิ ตัวอย่างเช่นถ้าต้องการผลิตมะลิให้สามารถเก็บดอกได้ในช่วงต้นเดือนมกราคม เราจำเป็นต้องบำรุงต้นมะลิให้สมบูรณ์ในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน โดยรดน้ำ ใส่ปุ๋ยเพื่อให้ต้นมะลิสมบูรณ์มีอาหารสะสมเพียงพอ ทำการตัดแต่งกิ่งในช่วงต้นเดือนธันวาคมซึ่งเราสามารถเก็บดอกมะลิได้ภายหลังจากตัดแต่งกิ่ง 30 วัน หรือช่วงต้นเดือนมกราคม ในกรณีที่เกษตรกรผลิตมะลิจำนวนมากสามารถทยอยตัดแต่งกิ่งมะลิเป็นรุ่นๆ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน-ธันวาคมเพื่อบังคับให้ต้นมะลิออกดอกตลอดช่วงระยะเวลาที่มะลิมีราคาแพง
  1. การกระตุ้นให้ต้นมะลิแตกตาดอก
    ทำการตัดแต่งกิ่งต้นมะลิในช่วงต้นเดือนธันวาคม โดยตัดเฉพาะส่วนยอดมะลิออกประมาณ 2-3 ชั้นใบ ให้มีใบที่สมบูรณ์อยู่กับต้นให้มากที่สุด และพ่นปุ๋ยโพแทสเซียมไนเตรท (13-0-46) อัตรา 500 กรัม/ น้ำ 20 ลิตร (ความเข้มข้น 2.5 %) ให้ทั่วทั้งต้น จำนวน 1 ครั้ง เพื่อกระตุ้นให้ต้นมะลิแตกตาข้าง การตัดแต่งกิ่งมะลิร่วมกับการพ่นสารโพแทสเซียมไนเตรทความเข้มข้น 2.5 เปอร์เซ็นต์ สามารถกระตุ้นให้ต้นมะลิแตกกิ่งใหม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ (ภาพที่ 2) เมื่อกระตุ้นให้ต้นมะลิแตกยอดใหม่ได้ย่อมทำให้ต้นมะลิออกดอกได้เช่นกัน (ภาพที่ 3) ทั้งนี้เนื่องจากต้นมะลิจะออกดอกภายหลังจากแตกยอดใหม่ และเราสามารถเก็บดอกมะลิได้ภายหลังจากการตัดแต่งกิ่ง 30 วัน (ภาพที่ 4-5) โดยมีระยะเวลาที่เก็บดอกมะลิได้นานประมาณ 20 วัน และมีจำนวนดอกต่อต้นมากกว่าต้นที่ไม่ได้ตัดแต่งกิ่งถึง 72 เปอร์เซ็นต์ แต่อย่างไรก็ตามขนาดของดอกมะลิที่ได้ก็ยังมีขนาดเล็กกว่าดอกมะลิที่ออกในช่วงฤดูร้อน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องหาวิธีการเพื่อเพิ่มขนาดของดอกมะลิให้ใหญ่ขึ้นต่อไป

 

ภาพที่ 2 การแตกตาข้างของต้นมะลิภายหลังจากการตัดแต่งกิ่งและพ่นสารโพแทสเซียมไนเตรทความเข้มข้น 2.5 เปอร์เซ็นต์ ที่อายุ 1 สัปดาห์

 

ภาพที่ 3 ลักษณะช่อดอกมะลิที่ออกมาพร้อมกับยอดใหม่

ภาพที่ 4 ลักษณะช่อดอกมะลิที่ได้ภายหลังจากการตัดแต่งกิ่ง 30 วัน

 

ภาพที่ 5 ดอกมะลิที่ได้ภายหลังจากการเก็บดอก

 

สรุปวิธีการผลิตมะลินอกฤดู 

  1. บำรุงต้นมะลิให้สมบูรณ์ในช่วงเดือนตุลาคม หรือก่อนการบังคับให้ออกดอก 2 เดือน
  2. ตัดแต่งกิ่งต้นมะลิช่วงต้นเดือนธันวาคม โดยใช้กรรไกรตัดเฉพาะส่วนยอดของต้นมะลิ ประมาณ 2-3 ชั้นใบ และพ่นปุ๋ยโพแทสเซียมไนเตรท (13-0-46) ในช่วงเย็น อัตรา 500 กรัม/ น้ำ 20 ลิตร
  3. เมื่อมะลิออกช่อดอกแล้วให้พ่นปุ๋ยทางใบสูตร 20-20-20 อัตรา 50 กรัม/ น้ำ 20 ลิตร และสารกระตุ้นการเจริญเติบโต สัปดาห์ละครั้งเพื่อช่วยบำรุงต้นและดอกมะลิ เราสามารถเก็บดอกมะลิได้ภายหลังจากตัดแต่งกิ่งประมาณ 30 วัน หรือช่วงต้นเดือนมกราคม (ตารางที่ 3)
  4. หากเกษตรกรปลูกมะลิจำนวนมากสามารถทยอยตัดแต่งกิ่งมะลิเป็นรุ่นๆ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม เพื่อให้เก็บดอกมะลิได้ตลอดช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม ซึ่งเป็นช่วงที่ดอกมะลิมีราคาแพง

  

เอกสารอ้างอิง

กฤษณา  กฤษณพุกต์. 2538. การพักตัวของพืชและการทำลายการพักตัว, น. 95-108. ใน สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และสมาคมวิทยาศาสตร์การเกษตรแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์, ผู้รวบรวม. เอกสารประกอบการฝึกอบรมเรื่องการใช้สารควบคุมการเจริญเติบโตของพืชสวน. สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ, กรุงเทพฯ.

ชาตรี   คงชาตรี. 2539. ผลของสาร Thiourea, KNO3 และ 4,6-dinitro-ortho-cresol ต่อการแตกตาและคุณภาพของดอกมะลิ. ปัญหาพิเศษปริญญาตรี, คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.

ตลาดสี่มุมเมือง. 2561. ราคามะลิดิบ. ราคาขายส่งสินค้าตลาดสี่มุมเมือง. แหล่งที่มา.http://www.taladsimummuang.com, 16 มกราคม 2561.

ธวัชชัย  นิ่มกิ่งรัตน์. 2545. เอกสารเผยแพร่เรื่อง เทคโนโลยีการผลิตมะลิลาในฤดูหนาว. ศรีสะเกษการพิมพ์, ศรีสะเกษ.

นิตย์   ศกุนรักษ์. 2542. สรีรวิทยาของพืช. นพบุรีการพิมพ์เชียงใหม่, เชียงใหม่.

บุญมี  เลิศรัตน์เดชากุล, ชาติชัย  ชยางกูร และสรรเสริญ  พิริยะธำรง. 2526. การศึกษาผลผลิตของดอกมะลิลาโดยการตัดแต่งกิ่งในเดือนต่างๆ กัน (สล. พส. พลิ้ว), น. 169 ใน กรมวิชาการเกษตร, ผู้รวบรวม. รายงานผลการค้นคว้าวิจัย ปี 2526. บริษัทลีฟวิ่ง จำกัด, กรุงเทพฯ.

พีรเดช   ทองอำไพ. 2537. ฮอร์โมนพืชและสารสังเคราะห์ แนวทางการใช้ประโยชน์ในประเทศไทย. วิชัยการพิมพ์, กรุงเทพฯ. 

ภาณุพงศ์   ศรีอ่อน. 2551. รายงานผลงานวิจัยเรื่อง ศึกษาวิธีการเพิ่มผลผลิตดอกมะลิลาในช่วงฤดูหนาว. สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, กรุงเทพฯ. 22 น.

สุวรรณา   เทียนทอง. 2542. ปัจจัยบางประการที่มีผลต่อความรู้เพื่อเพิ่มผลผลิตมะลิในฤดูหนาว: กรณีศึกษาเกษตรกรผู้ปลูกมะลิเขตพื้นที่อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม. วิทยานิพนธ์ปริญญาโท, คณะเกษตร  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.

หมายเหตุ ส่งผลงานเพื่อเผยแพร่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2561